กองทุนน้ำมันกับการอุดหนุนราคาแอลพีจี

0
1350

กองทุนน้ำมันกับการอุดหนุนราคาแอลพีจี

ในที่สุดการนำเงินกองทุนน้ำมันฯไปอุดหนุนราคาแอลพีจีก็กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า บัญชีแอลพีจีในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้กำหนดกรอบวงเงินติดลบไว้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาทนั้น มีแนวโน้มจะเต็มเพดานในเดือน ธ.ค.นี้ เพราะราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธานฯในปลายเดือน ต.ค.นี้ ทาง สกนช. จึงเตรียมนำเสนอโมเดลสำหรับดูแลราคา LPG ในอนาคต ภายใต้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเสนอให้ปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ลง ในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันมีการจัดเก็บอยู่ที่ 2.17 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 0.17 บาทต่อกิโลกรัม

วิธีการนี้ จะทำให้มาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 63 ที่ขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. – 31 ธ.ค.63 อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือ ตรึงราคาอยู่ที่ 18 บาตต่อกิโลกรัม จะลดลง 2 บาท ซึ่งจะช่วยลดภาระเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันฯ ที่นำไปชดเชยราคา LPG ลง และจะทำให้สถานะเงินกองทุนน้ำมันฯในส่วนของบัญชี LPG กลับมาเป็นบวก ภายใน 2-3 ปี

อย่างไรก็ตาม แนวทางปรับลดภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิต แม้ว่ารายได้จากภาษีสรรพสามิตในส่วนของก๊าซ LPG จะหากไป 19.38 ล้านบาทต่อวัน จากการลดเก็บภาษีลงในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม

เนื่องจาก สกนช.จะเสนอให้หันไปพิจารณาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดเพิ่มขึ้น โดยจะเกลี่ยเข้าไปในเนื้อน้ำมันแต่ละชนิดในอัตราประมาณ 0.20 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้กรมสรรพสามิต มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันไปชดเชยภาษีแอลพีจีที่ขาดหายไป

ส่วนสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน ณ เดือน ต.ค.63 มีเงินไหลออก ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็น กลุ่มน้ำมันฯ ไหลออก 709 ล้านบาท และ LPG ไหลออก 493 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่สถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 18 ต.ค.63 เหลือเงินสุทธิ 30,718 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 38,674 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 7,956 ล้านบาท

ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาระของกองทุนน้ำมันฯในการต้องนำเงินไปอุดหนุนราคาแอลพีจีโดยไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร แต่ข้อเสียคือเป็นการขึ้นภาษีสรรพสามิตกับผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดอีกลิตรละ 20 สตางค์ ทำให้ผู้ใช้น้ำมันทุกคนต้องจ่ายแพงขึ้น

ความจริง กบน. ยังมีทางเลือกอื่นอีกคือ แทนที่จะลดภาษีสรรพสามิตแอลพีจีแล้วไปขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกชนิด กบน. ควรพิจารณาลดการอุดหนุนน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 และดีเซล B20 ลง เพราะน้ำมันทั้งสองชนิดนี้ต้องใช้เงินกองทุนฯอุดหนุนอยู่ถึงวันละ 6.6 และ 10 ล้านบาท ตามลำดับ รวมแล้วเป็นเงินวันละ 16.6 ล้านบาท พอๆกันกับที่ สกนช. เสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตแอลพีจี 19.38 ล้านบาท/วัน

แน่นอนว่าถ้าทำเช่นนั้นราคาน้ำมันทั้งสองชนิดจะสูงขึ้น ยอดขายน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 และดีเซล B20 จะลดลง แต่ต้องเข้าใจแก๊สโซฮอล E85 และดีเซล B20 เกิดขึ้นจากแรงกดดันและเหตุผลทางการเมือง ไม่มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นการเอาของแพงมาผสมในของถูก และผสมในปริมาณมากด้วย คือ 85 และ 20 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ทำให้ต้นทุนสูง แต่เอาเงินกองทุนฯมาอุดหนุนเอาไว้ให้ราคาถูก

ยิ่งมองแนวโน้มราคาน้ำมันในอนาคต โอกาสที่ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) จะแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลยิ่งเป็นไปได้ยาก เราจึงไม่ควรใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพมากจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และต้องใช้เงินอุดหนุนมากขึ้น

ดังนั้น กบน.จึงไม่ควรเพิ่มภาระประชาชนผู้บริโภคน้ำมันอีก โดยการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามที สกนช.เสนอ !!!

 

มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน

23 ต.ค. 2563