ขึ้นปีที่ 7 กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS)

0
858

ขึ้นปีที่ 7 กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ชูแนวทางแก้ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกิน สร้างภาระค่าไฟผู้บริโภค แนะปรับแผน PDP ให้ทันสมัย โปร่งใส ยืดหยุ่น พร้อมเสนอประเด็นปฏิรูปพลังงานรอบด้าน

28 ตุลาคม 2563 ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายมนูญ ศิริวรรณ และ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้เปิดเผยข้อเสนอใหม่ ๆ ในการปฏิรูปพลังงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี ของ ERS โดยมองย้อนทศวรรษที่ผ่านมาว่าภาครัฐได้มีการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยมิได้ทบทวนแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวที่ลดลงอย่างเพียงพอ อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลายช่วง รวมทั้งการคาดการณ์ที่ต่ำเกินไปของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใช้เอง (Prosumer) ของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหากำลังผลิตสำรองสูงถึงระดับ 50% เป็นภาระต่อผู้บริโภคเนื่องจากระบบค่าไฟฟ้าเป็นแบบผ่านส่งต้นทุนเพราะ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งเพียงรายเดียว

ERS จึงมีข้อเสนอในหลากหลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบในประเด็นดังกล่าว ดังนี้

(1) ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฐาน เพื่อลดค่าไฟฐานและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าระบบปัจจุบันที่รับประกันผลตอบแทน

(2) ในส่วนของกำลังผลิตใหม่ ให้เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล

(3) ในส่วนของกำลังผลิตที่ติดตั้งไปแล้ว ให้ปรับระบบการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในส่วนที่เรียกกันว่า Merit Order โดยจัดให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งเอกชนและของรัฐแข่งกันเสนอราคาขายที่ต่ำที่สุด ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าพลังงานที่เคยระบุไว้ในสัญญา

(4) รัฐควรใช้เงื่อนไขตามสัญญาเพื่อลดหรือเจรจาลดการซื้อในส่วนที่เป็นสัญญาผูกมัด (Must take) และลดการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่สามารถลดได้ และ

(5) ไม่ต่อใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น

ในด้านการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ควรปรับปรุงกระบวนการให้ทันสมัย โปร่งใส และมีความยืดหยุ่น สะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ให้เกิดการอนุมัติกำลังผลิตที่เกินความจำเป็นและเป็นปัญหาที่ยาวนาน และเพื่อวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จริงจังมากขึ้น อีกทั้งควรให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ได้ PDP ที่โปร่งใสและสมบูรณ์ (ขยายความด้านท้าย)

ส่วนในระยะยาว หากปฏิรูปให้มีตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี สถานการณ์กำลังผลิตสำรองล้นเกินจะทำให้ค่าไฟลดลงแทนที่จะสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรเปิดบริการสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA) เช่นเดียวกับที่ได้มีการเปิด TPA ระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังนำเข้า LNG ไปแล้ว การแข่งขันตลอดสายจะทำให้ระบบมีทั้งความมั่นคงและได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงสำหรับผู้บริโภค กลุ่ม ERS จึงเสนอให้เตรียมการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงานไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาค่าไฟพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขการแบ่งภาระความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังผลิตสำรองเกิน หรือขาด หรือสมดุล

ด้านปิโตรเลียม ERS ขอเร่งรัดให้พัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยก่อนที่จะด้อยค่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย ได้แก่ การเปิดสัมปทานรอบ 23 การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการนำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ใต้กรมการพลังงานทหารมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 เพื่อนำผลประโยชน์มาเป็นรายได้ส่วนกลางของรัฐ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปฏิรูปอื่น ๆ ที่น่าสนใจด้านท้าย

“ERS ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่อย่างอิสระด้วยความโปร่งใส มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ ใช้การประมูลแทนดุลพินิจในกรณีที่ทำได้ เปิดเผยรายละเอียดที่มาของค่าไฟฟ้าฐาน เช่น ต้นทุน (ราคารับซื้อ) ของโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ และการคืนเงินค่าลงทุนที่ไม่ได้ใช้จริงในค่าไฟฐานที่เก็บกับผู้บริโภคไปแล้ว รวมทั้งให้การไฟฟ้าทั้ง 3 เปิดเผยข้อมูลลักษณะเดียวกับที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายงานในแบบ 56-1” ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าว

ดร.ปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวถึงภาพรวมของการปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนว่า ERS ขอเสนอให้ไทยกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานโดยรวม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยเร็ว เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมทั้งนำระบบ Carbon Tax/Carbon Pricing มาใช้

หมายเหตุ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS เป็นกลุ่มบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวพันกับสาขาพลังงานหรือการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นเวลายาวนาน รวมตัวกันโดยอิสระเพื่อเผยแพร่ความรู้ข้อเท็จจริงด้านพลังงาน และส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปพลังงานอย่างยั่งยืน [“แนวทาง ERS 2563” ฉบับเต็มที่ https://bit.ly/2HYWRjR]

ประเด็นรองที่น่าสนใจ

  • เปิดเผยข้อมูล PDP: อาทิเช่น ต้นทุนของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งเอกชนและ กฟผ. ข้อจำกัดในการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ข้อจำกัดของระบบสายส่งสาย รวมทั้งการวิเคราะห์ทางเลือกต่าง ๆ ในการจัดหาไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยรวมที่มีประสิทธิภาพ (Optimization) ระหว่างสายส่งสายจำหน่าย กับการสร้างโรงไฟฟ้าในการจัดทำแผน PDP และแผนการลงทุนในระบบสายส่งสายจำหน่าย
  • การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน: ควรผ่านการประมูลแข่งขันด้านราคา โดยมีต้นทุนผันแปรของโรงไฟฟ้าหลักเป็นเพดาน
  • ไฟฟ้าจากขยะ: ส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF(Refuse-derived fuel) โดยทั่วไป เพื่อเป็นแรงผลักดันในตลาดให้เกิดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะมากขึ้น โดยรัฐควรใช้มาตรการกฎหมายบังคับให้นำขยะไปใช้เป็นพลังงาน ควบคู่กับมาตรการทางเศรษฐศาสตร์สร้างแรงจูงใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการขยะมีส่วนร่วมในการลงทุนหรือดำเนินธุรกิจร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ
  • เชื้อเพลิงชีวภาพ: ปรับโครงสร้างราคาให้แข่งขันกับฟอสซิลได้โดยไม่เป็นภาระการอุดหนุนของผู้ใช้รถบางกลุ่ม ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมทั้งเปิดกว้างให้ใช้พืชพันธุกรรม (GMO) ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้เกษตรกร โดยการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพสมควรจบลงภายในปี พ.ศ.2565 ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562
  • ส่งเสริมการใช้มิเตอร์ไฟ TOU (อัตราตามช่วงเวลาของการใช้/ Time of Use tariff: ปรับค่าธรรมเนียมให้สะท้อนกับค่ามิเตอร์ที่นำไปเปลี่ยนและควรเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ รวมทั้งแยกแยะค่า Ft ตามช่วงเวลาของ TOU ทั้งนี้ ควรปรับอัตราค่าไฟฟ้า TOU และช่วงเวลาให้จูงใจและสอดคล้องกับสภาพการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันของผู้บริโภคมากขึ้น โดยมีกระบวนการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าทุกระยะ

ดูขยายความและประเด็นอื่น ๆ ใน “แนวทาง ERS 2563” ฉบับเต็มที่ https://bit.ly/2HYWRjR

แสดงความเห็นได้ที่: https://web.facebook.com/ERSFellowship/posts/1478972368979433