ความขัดแย้งที่ยังไม่จบ: โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

0
1785

ความขัดแย้งที่ยังไม่จบ

สัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสานเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าภาคใต้” ที่จัดขึ้นโดยคณะที่ปรึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภายใต้โครงการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้

โครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2561 จากการที่มีกลุ่ม NGO และชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนได้ออกมาทำการรณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อย่างหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านในพื้นที่อีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นการสร้างงานและและพัฒนาพื้นที่ จนถึงกับยกขบวนขึ้นมาประท้วงกันที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น คือ นาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ จึงได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายว่า กระทรวงจะแก้ปัญหาโดยจัดให้มีการทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ให้เสร็จสิ้นใน 9 เดือน เพื่อประเมินว่ามีพื้นที่ใดในภาคใต้ที่เหมาะสมจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และถ้าไม่มีที่ใดเหมาะสมควรจะพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ในรูปแบบใด จึงจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและมีความยั่งยืนในการพัฒนาไปด้วยในเวลาเดียวกัน

จากนั้นทางกระทรวงพลังงานจึงได้ตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการฯขึ้นมาชุดหนึ่ง และเปิดประมูลหาที่ปรึกษาผู้ดำเนินการศึกษาโครงการฯ จนได้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มาเป็นผู้ศึกษาโครงการนี้ แต่เนื่องจากการศึกษาต้องล่าช้าเพราะมีอุปสรรคเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความขัดแย้งในพื้นที่ จึงทำให้โครงการไม่สามารถศึกษาได้เสร็จตามกำหนด 9 เดือน และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันร่วม 2 ปีแล้ว

ในการนำเสนอโครงการ ทางสถาบันฯได้เน้นว่าหัวใจของการศึกษาคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่โดยวิธีการที่เรียกว่า “สานเสวนา” ซึ่งทางสถาบันฯเชื่อมั่นว่าจะทำให้ชุมชนหันมาพูดคุยกันและแสวงหาทางออกร่วมกันได้

แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การศึกษาต้องล่าช้าและยืดเยื้อออกมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะความขัดแย้งทางความคิดของประชาชนสองกลุ่ม ทั้งคัดค้านและสนับสนุน ยังไม่บรรเทาเบาบางลงแต่อย่างใด ต่างฝ่ายต่างก็ยังคงยึดมั่นในความคิดของตน โดยไม่พยายามหาทางออกร่วมกันว่าจะพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้อย่างไร

การสานเสวนาที่ผมไปร่วมสังเกตการณ์ในฐานะกรรมการกำกับโครงการฯที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นรอบที่ 3 แล้ว แต่บรรยากาศก็ยังไม่มีอะไรแตกต่างจากรอบแรกแต่อย่างใด โดยในช่วงเช้าได้มีการแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มสนับสนุนพลังงานหลัก และกลุ่มสนับสนุนพลังงานทางเลือก ก็ปรากฏว่ากลุ่มสนับสนุนก็พูดกันแต่เรื่องถ่านหินดีอย่างไร ทำไมต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ในขณะที่กลุ่มคัดค้านก็เอาแต่พูดว่าถ่านหินเลวร้ายอย่างไร และส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆที่พูดกันมาตั้งแต่รอบแรกแล้วทั้งสิ้น

ซ้ำร้ายในช่วงบ่ายที่ทั้งสองกลุ่มต้องมานำเสนอผลการระดมความคิดของแต่ละกลุ่ม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็ปรากฏว่ากลุ่มสนับสนุนพลังงานทางเลือก (คัดค้านถ่านหิน) ไม่ยอมเข้าประชุมเสียอีก ยกพวกกลับเอาดื้อๆ ทำให้เหลือแต่กลุ่มพลังงานหลัก (สนับสนุนถ่านหิน) ยึดครองเวทีไปแต่เพียงผู้เดียว

สรุปก็คือ เสียเวลาไป 2 ปี ความขัดแย้งก็ยังไม่จบ ยังพูดกันแต่เรื่องเดิมๆ !!!

 

มนูญ ศิริวรรณ

27 พ.ย. 2563