ชัยชนะของโจ ไบเดนกับนโยบายพลังงานของสหรัฐฯ

0
1001

ชัยชนะของโจ ไบเดนแห่งพรรคเดโมแครต ต่อประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์แห่งพรรครีพับลิกันในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯในครั้งนี้ จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนโฉมหน้านโยบายพลังงานของสหรัฐฯครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน

ไบเดนประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาสนับสนุนพลังงานสะอาด และตั้งเป้าหมายว่าสหรัฐฯจะเป็นประเทศที่ปลดปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ (net zero emissions) ภายในปีค.ศ. 2050 ดังนั้นอุตสาหกรรมพลังงานจะต้องลดการปล่อยมลภาวะลงเป็นศูนย์ภายในปี 2035

ภายใต้นโยบายดังกล่าว ไบเดนระบุว่าเขาจะนำสหรัฐฯกลับเข้าสู่ข้อตกลงกรุงปารีส (Paris Climate Agreement) ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งเซ็นถอนตัวออกมาอย่างเป็นทางการ ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา

ไบเดนมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่อย่างชัดเจนต่อโลกใบนี้ และถ้าสหรัฐฯปรับตัวจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสีเขียวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯจะขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ไบเดนมีนโยบายพลังงานตรงกันข้ามกับทรัมป์โดยสิ้นเชิง คือนโยบายเปิดให้มีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพื้นที่ของรัฐ (Federal Lands Drilling) 

ในขณะที่ทรัมป์สนับสนุนให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศอย่างเต็มที่ ไบเดนกลับสัญญาว่าจะห้ามการออกใบอนุญาตใหม่ให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในน้ำในพื้นที่ของรัฐ เพื่อต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (Global Climate Change)

ประเด็นนี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของสหรัฐฯมาก เพราะการผลิตน้ำมันในพื้นที่ของรัฐนั้นคิดเป็นประมาณ 25% ของการผลิตน้ำมันทั้งประเทศ และมีสัดส่วนมากกว่า 8% ของการผลิตก๊าซในประเทศ

ดังนั้นการงดการออกใบอนุญาตใหม่อาจหมายความว่าตัวเลขดังกล่าวจะกลายเป็นศูนย์ในอีกหลายปีข้างหน้า นอกจากนั้นยังอาจกระทบกับรายได้ของรัฐเป็นเงิน 12,000 ล้านเหรียญ (ปี 2019) ที่นำมาแบ่งกันระหว่างกระทรวงการคลัง มลรัฐ ท้องถิ่น ชนเผ่า และกองทุนทำความสะอาดต่างๆ (Cleanup Funds)

ด้านนโยบายพลังงานระหว่างประเทศ การคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอล่าอาจมีการทบทวน โดยไบเดนมีแนวโน้มจะร่วมมือกับพันธมิตรในยุโรปเพื่อกำหนดท่าทีและนโยบายคว่ำบาตรต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจทำให้มีน้ำมันส่งออกจากสองประเทศนี้มากขึ้น ถ้าสามารถเจรจาตกลงกันได้ การคว่ำบาตรของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสองประเทศนี้ทำให้ปริมาณน้ำมันหายไปจากตลาดประมาณ 3 ล้านบาร์เรล/วัน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มโอเปกและพันธมิตร โดยเฉพาะกับซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งอาจเปลี่ยนไปจากสมัยของทรัมป์ ที่ค่อนข้างนำตัวเข้าไปผูกพันกับซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะกับมกุฎราชกุมาร เจ้าชายโมฮัมเม็ด บิน ซัลมาน และพยายามกดดันให้ราคาน้ำมันไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไป 

ซึ่งท่าทีของไบเดนในเรื่องนี้น่าจะไม่เข้าไปผูกพันใกล้ชิดกับกลุ่มโอเปกเหมือนทรัมป์ แต่น่าจะใช้วิธีทางการทูตแบบ เงียบๆมากกว่า ส่วนนโยบายราคาคงเหมือนกันคือต้องการราคาน้ำมันที่ไม่สูงจนเกินไป จนกระทบต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้เพราะคนอเมริกันบริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลกครับ !!!

 

มนูญ ศิริวรรณ

13 พ.ย. 2563