ตาม ERS ไปดูเขื่อนผลิตไฟฟ้าใหญ่ยักษ์ ซึ่งเป็นที่โจษจัน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา @กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมความคืบหน้าในการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในแขวงไซยะบุรี ของสปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 นี้
เขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ชนิด Run of River ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมีกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งหมด 8 ชุด แบ่งเป็น 175 เมกะวัตต์ (MW) 7 ชุด และ 60 MW อีก 1 ชุด รวมเป็นกำลังผลิต 1,285 MW ได้พลังงานไฟฟ้าจำนวนประมาณ 7,400 ล้านหน่วย (GWh) ต่อปี โดยจำหน่ายให้ประเทศไทยประมาณ 95% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ผ่านสายส่งแรงสูง 500 KV ที่เหลืออีกประมาณ 5% จำหน่ายให้ สปป.ลาว
โครงการดังกล่าว เป็นเขื่อนแบบ Run of River ซึ่งไม่มีการกักเก็บน้ำ จึงเกิดผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งโขงน้อยที่สุด และยังไม่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติมาเป็นอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้โครงการได้เลือกใช้กังหันน้ำที่เป็นมิตรต่อสัตว์น้ำ โดยออกแบบใบพัดให้หมุนช้า และมีจำนวนใบพัดน้อยที่สุด
เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของสัตว์น้ำให้มากที่สุด
มีการทุ่มงบประมาณหลายพันล้านบาท เพื่อศึกษาหาข้อมูล
ในเชิงลึก เพื่อใช้ในการออกแบบและสร้างทางปลาผ่าน เพื่อให้สัตว์น้ำสามารถอพยพผ่านเขื่อนได้ทุกฤดูกาล ทั้งปลาว่ายทวนน้ำ และ ปลาว่ายตามน้ำ
สำหรับปลาที่อพยพทวนน้ำ มีระบบปั๊มน้ำเพื่อชักจูงปลาไปสู่ทางปลาเข้า (Fish Entrance) เชื่อมต่อไปยังทางปลาผ่าน (Fish Ladder) และช่องยกระดับปลา (Fish Locks) จนถึงคลองระดับบน (Upper Channel) เพื่อให้ปลากลับสู่แม่น้ำโขงช่วงเหนือเขื่อน
สำหรับปลาที่อพยพตามน้ำ ก็จะมีทางปลาเข้าไปสู่ แอ่งพักปลา (Fish Resting Pool) และไหลลงรางเท (Zigzag chute) เพื่อลดความลาดชัน และผลกระทบจากความเร็วของกระแสน้ำ
ที่อาจทำอันตรายต่อปลา ก่อนที่จะกลับสู่แม่น้ำโขงตอนล่างของเขื่อนได้
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มระบบจัดการตะกอนดินก้นแม่น้ำ
ให้สามารถผ่านได้ เพื่อลดผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ และในอนาคตก็จะจัดตั้งสถานีวิจัยและขยายพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนอาชีพประมงของประชาชนในพื้นที่ด้วย
สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับชาวบ้านในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม แม้จะทำให้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 10% เป็น 1.35 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลลาวก็ช่วยปรับค่าสัมปทานให้โครงการสามารถเดินต่อในเชิงพาณิชย์ได้
เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ สปป.ลาว เองด้วย
ถึงแม้โครงการไซยะบุรีจะเป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ยักษ์ แต่พลังงานไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวคิดเป็นเพียง 3.5% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย และแม้ก่อนหน้านี้เราได้ยินข้อกังวลเรื่องผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ได้มารับฟังข้อมูลการปรับปรุงการออกแบบในหลายๆด้าน เพื่อพยายามตอบประเด็นซึ่งเป็นที่โจษจันเหล่านั้น แต่จะตอบได้ดีจริงแค่ไหนก็คงต้องรอดูกันต่อไป
FACEBOOK : https://www.facebook.com/ERSFellowship/posts/818059181737425