ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกิน: ภาระของประชาชน
อย่างที่ทราบกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เติบโตในอัตราติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาสแล้ว และมีการคาดการว่าทั้งปีพ.ศ. 2563 จะติดลบประมาณ 7-8%
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การใช้พลังงานทุกชนิดลดลง 10.1% น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 12.6% โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบิน (ลดลงเกือบ 50%) รวมถึงก๊าซธรรมชาติลดลง 8.6%
ไฟฟ้าก็เช่นกัน ความต้องการไฟฟ้าในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว แต่ไม่มากนักแค่ 3.9% ทั้งนี้เพราะในช่วง lockdowns ประชาชนอยู่กับบ้านและทำงานจากที่บ้าน โดยรัฐบาลได้มีนโยบายช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ จึงทำให้ความต้องการไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนสูงขึ้นทดแทนความต้องการไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ลดลงไปได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (44,834 MW) ที่สูงเกินกว่าความต้องการอยู่แล้ว จึงทำให้มีสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ที่สูงกว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ประมาณ 45% ในปี 2562
ดังนั้นเมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ความต้องการไฟฟ้าลดลง ประกอบกับการที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง (Install capacity) เพิ่มขึ้นตามแผน PDP และสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ทำไว้กับเอกชน (IPP)
จึงทำให้ในปี 2563 มีกำลังการผลิตติดตั้ง ณ เดือนกันยายนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 45,478 MW แต่มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ต่ำกว่าปี 2562 ดังนั้น ปริมาณสำรองไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นจาก 45% มาเป็น 59% ซึ่งถือว่าสูงมาก และนี่คือภาระของประชาชนผู้ใช้ไฟต้องร่วมกันแบกรับ
การลดปริมาณฟ้าไฟ้สำรองจึงเป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานที่ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยหวังว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเบาบางลง เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัว ทำให้การบริโภคพลังงานกลับคืนมา และสำรองไฟฟ้าจะลดลงมาเอง
แต่อย่าลืมว่าตามแผน PDP 2018 ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไป มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและในส่วนของเอกชน (IPP/SPP) ซึ่งบางโครงการมีการเซ็นสัญญาผูกมัดกันไปแล้ว บางโครงการก็กำลังก่อสร้างอยู่
นอกจากนั้นในแผน PDP ยังมีการระบุให้มีการสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (VSPP) กระจายไปทั่วประเทศ มีแผนโรงไฟฟ้าชุมชนที่เพิ่มเติมเข้ามา มีแผนโซล่าร์รูฟเสรี สนับสนุนให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตพลังงานเองและใช้เอง (Prosumer)
แผนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบทั้งสิ้น ล่าสุดในการประชุมคกก.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. เป็นประธาน ยังมีวาระให้จัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์ รองรับแผนการลงทุนผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชน ตามมติ ครม.โดยมีกระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ ศอ.บต. จัดทำแผนงานให้แล้วเสร็จ ภายใน 31 มี.ค 2564
ถ้าเป็นไปอย่างนี้ ผมว่าเราลืมเรื่องการลดปริมาณสำรองไฟฟ้าไปดีกว่าครับ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
4 ธ.ค. 2563