ปลายพ.ย. ที่ผ่านมาที่ประชุมองค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือโอเปค (OPEC) ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ได้มีมติไม่ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ และยังคงกำหนดเพดานการผลิตไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันเช่นเดิม เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 40 ของโลกเอาไว้

0
575

การตัดสินใจของกลุ่มโอเปคในครั้งนี้ ไม่กระทบต่อสมาชิกบางประเทศที่ร่ำรวย เช่น ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ แต่จะมีผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มโอเปคในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่ดีและยากจน เช่น เวเนซุเอลา ไนจีเรีย อิหร่าน แอลจีเรีย ฯลฯ เพราะพวกเขาจะมีรายได้เข้าประเทศลดลงมากถ้าราคาน้ำมันลดลงมากซึ่งจริงๆ แล้วประเทศเหล่านี้เสนอให้ประเทศในกลุ่มโอเปคที่ร่ำรวยลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันแต่ก็โดนปฏิเสธ ดังนั้น สถานการณ์ในตอนนี้จึงเป็นบททดสอบครั้งสำคัญต่อกลุ่มโอเปคว่าจะยังคงรวมกลุ่มกันและรักษาอิทธิพลที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกต่อไปได้หรือไม่ จึงเป็นสงครามราคาน้ำมันยุคใหม่ที่น่าจับตามองว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

สำหรับประเทศไทยนั้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกตอนนี้ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกก็ลดลงเช่นกัน ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะบริหารจัดการเรื่องโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศที่ถูกบิดเบือนไปนาน ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามกลไกตลาดและยกเลิกอุดหนุนราคาพลังงานข้ามประเภทกันเนื่องจากช่วงนี้ทิศทางของราคาน้ำมันเป็นขาลง การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับเงินกองทุนน้ำมันจะมีผลกระทบต่อประชาชนน้อย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลที่จะปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานถูกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทน

วันที่ 10 ธันวาคม 2557
ที่มา: http://bit.ly/1tyLcVe

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://www.facebook.com/ERSFellowship/posts/314541022089246:0