โซลาร์ภาคประชาชน: ผลิตไฟ้ฟ้าเพื่อขาย หรือใช้เอง?

0
1188

สัปดาห์ที่แล้วศูนย์ข่าวพลังงานรายงานว่าแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่านโยบายโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ที่จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมภาคประชาชนเพื่อผลักดันโครงการต้นแบบให้เสร็จภายใน 60 วันอาจมีความล่าช้าเสร็จไม่ทันตามกำหนด

โครงการโซลาร์ภาคประชาชนเป็นโครงการที่รมว. พลังงานคนเดิม ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ได้ริเริ่มเอาไว้โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในช่วงกลางวันซึ่งจะช่วยลดพีคไฟฟ้าให้กับระบบ และหากมีไฟฟ้าส่วนเกินเหลือใช้จึงค่อยขายเข้าระบบ

ดังนั้นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จะขายเข้าระบบจึงตั้งไว้ค่อนข้างต่ำที่ 1.68 บาท/หน่วย เพราะต้องการส่งเสริมให้ผลิตเพื่อการใช้เองเป็นหลัก ไม่ใช่ผลิตเพื่อขาย โดยการผลิตเพื่อขายนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

โครงการโซลาร์ภาคประชาชนจึงออกแบบมาสำหรับผู้มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในช่วงกลางวัน เช่น คนทำงานอาชีพอิสระที่ใช้บ้านเป็นออฟฟิศ หรือที่เรียกว่า Work at Home อย่างที่เราเริ่มคุ้นเคยกันในช่วงวิกฤติ Covid-19 หรือพวกที่ดัดแปลงบ้านเป็น Home Office อย่างนี้เป็นต้น แต่ไม่มีนโยบายจะสนับสนุนให้คนเข้าร่วมโครงการเพื่อต้องการรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นวัตถุประสงค์หลัก

โครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้กำหนดเป้าหมายโครงการไว้ที่ 100 เมกะวัตต์/ปี แต่ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการน้อยมากเพียง 1.8 เมกะวัตต์เท่านั้น โดยเหตุผลที่คนสนใจน้อยน่าจะมีหลายเหตุผลตั้งแต่ความไม่คุ้นเคยในระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์ การที่ต้องลงทุนครั้งแรกเป็นเงินจำนวนมาก การมองไม่เห็นความคุ้มค่าจากการประหยัดค่าไฟฟ้าและความไม่สะดวกต่าง ๆ เมื่อเทียบกับการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่โครงการโซลาร์ภาคประชาชนไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะอัตราการรับซื้อไฟส่วนเกินเข้าระบบนั้นตั้งไว้ต่ำเกินไปจนไม่จูงใจให้คนสนใจมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันมาก ๆ

ดังนั้นจึงได้มีการผลักดันให้ รมว.พลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ตั้งคณะทำงานร่วมภาคประชาชนขึ้นเพื่อดำเนินการโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ก็ประสบกับปัญหาเรื่องการปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จะเปลี่ยนจากเดิม 1.68 บาท/หน่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

ในขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังเป็นห่วงในเรื่องภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นถ้ามีการปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์ภาคประชาชนให้สูงขึ้นเพราะค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ปรับขึ้นนั้นจะถูกคำนวณเป็นต้นทุนของค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า ft) ที่ประชาชนทุกคนต้องแบกรับโดยเฉพาะประชาชนที่ไม่มีเงินติดโซลาร์รูฟท็อปแต่ต้องมาแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเพื่อให้คนติดโซลาร์รูฟท็อปมีรายได้มากขึ้น

ดังนั้นจึงมีคำถามตัวโตๆ ว่าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนผลิตเพื่อขายหรือใช้เอง?!!!.