แม้ว่า COVID-19 จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยยังไปต่อ
จากปี 2536 ที่เป็นปีแรกที่มีการริเริ่มการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกลจากสายส่งไฟฟ้า การผลักดันของภาครัฐในเรื่องพลังงานทดแทนโดยการให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดเพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศไทยก็ยังดำเนินต่อไป ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PADP2018 Rev. 1) เป้าหมายกำลังผลิตใหม่ของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่จะรับซื้อไฟฟ้าระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2580 คือ 18,696 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 12,015 เมะวัตต์ (หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 64) รองลงมาคือ ชีวมวล 3,500 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 1,183 เมกะวัตต์ ขยะ 444 เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 69 เมกะวัตต์
อนึ่ง ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP2018 ซึ่งสอดคล้องกับแผน PADP2018 Rev.1 ยังได้มีการกำหนดเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเฉพาะที่จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ณ ปี พ.ศ. 2580 และ พลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน (Hybrid) กับชีวมวล และ/หรือ ชีวภาพจากน้ำเสีย และ/หรือ ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 550 เมกะวัตต์ ณ ปี พ.ศ. 2567 อีกด้วย
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในแง่ของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากค่าความเข้มรังสีอาทิตย์เฉลี่ยตลอดทั้งปีของประเทศไทยมีค่าสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานได้ในทุกพื้นที่ของประเทศทั้งในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน
ณ ปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ราว 3 กิกกะวัตต์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของกำลังการผลิตที่ติดตั้งทั้งหมดในอาเซียน ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเร่งพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ สิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต้องเริ่มร่วมลงมือทำ คือการวางแผนอย่างเป็นระบบในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะจากโซลาร์และอุปกรณ์ที่หมดอายุ
แหล่งข้อมูล https://www.dede.go.th/ewt_dl_link.php?nid=54484
#ERSFellowship #เข้าใจเพื่อไปต่อ #พลังงานแสงอาทิตย์
แสดงความคิดเห็นได้ที่: https://web.facebook.com/ERSFellowship/photos/a.299602063583142/1506625302880806/