การมีส่วนร่วมปฏิรูปพลังงานของภาคประชาสังคม

0
666

ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ในด้านการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นปฏิรูปที่ 3 ใน 17 ประเด็นปฏิรูป หัวข้อการสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน ซึ่งต้องการเพิ่มบทบาทของภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศมากขึ้น

จึงเสนอแนะให้ตั้ง คณะกรรมการภาคประชาสังคม ในกระทรวงพลังงาน เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบาย เสนอแนะและติดตามการดำเนินการตามนโยบาย และให้คำแนะนำต่อรมว.พลังงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน ช่วยเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้านพลังงานของรัฐ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาสังคมได้ดียิ่งขึ้น

เพื่อให้ได้ตัวแทนของคณะกรรมการภาคประชาสังคมที่แท้จริงตามที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูป ซึ่งจะประกอบไปด้วยตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย (Stake Holder) ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้/ ผู้บริโภคพลังงาน 3 คน กลุ่มผู้ผลิต/ ผู้จำหน่ายพลังงาน 3 คน ภาควิชาการ 2 คน และคณะกรรมการด้านพลังงานตามกฎหมาย 2 คน

ในแผนปฏิรูปฯ จึงเสนอแนะให้รมว.พลังงาน ตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นชุดหนึ่งเช่นกัน โดยมีองค์ประกอบเช่นเดียวกันกับคณะกรรมการภาคประชาสังคม คือประกอบด้วยตัวแทนจาก 4 กลุ่มเช่นเดียวกัน โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้คัดเลือกและเสนอชื่อตัวแทนทั้ง 4 กลุ่ม เพื่อเป็นคณะกรรมการสรรหาฯ เสนอต่ออดีตรมว.พลังงาน คือนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และพยายามติดตามจนได้รับอนุมัติแต่งตั้ง ทำให้เรื่องนี้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ล่าสุดคณะกรรมการสรรหาฯชุดนี้ได้มีการประชุมนัดแรกไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 63 และได้เลือก รองศาสตราจารย์ ดร. แนบบุญ หุนเจริญ จากภาควิขาการ เป็นประธานฯ และได้วางแนวทางสรรหากรรมการภาคประชาสังคม รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของกรรมการ เพื่อประกาศเชิญชวนหน่วยงานหรือองค์กรที่มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน เสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามประกาศ เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาคัดเลือกต่อไป

นับว่าก้าวแรกของการปฏิรูปการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศได้เริ่มขึ้นแล้ว!.

ℹ️ ที่มาบทความ คอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” เรื่อง “การมีส่วนร่วมปฏิรูปพลังงานของภาคประชาสังคม” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2563

ℹ️ โดย มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน