การเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซแอลเอนจี

0
283
สัปดาห์ที่แล้วนโยบายการเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของกระทรวงพลังงานกลายเป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อบริษัทปตท.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า นโยบายการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) นำเข้าก๊าซ LNG จำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี อาจทำให้กฟผ.ไม่สามารถรับก๊าซตามสัญญาที่ทำไว้กับปตท.ได้ และจะส่งผลให้เกิดสถานการณ์ “Take or Pay” หรือ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” และภาระดังกล่าวจะถูกนำไปคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) สูงขึ้นได้

 

ปตท.แจ้งไปในจดหมายถึงกระทรวงพลังงานว่า ความต้องการใช้ก๊าซภายในประเทศเพื่อการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากตามที่คาดการณ์เอาไว้ ในขณะที่การผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศในอ่าวไทยยังคงเป็นไปตามแผน รวมทั้งยังมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเสริมความต้องการ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณ LNG นำเข้า จากสัญญาระยะยาวที่ปตท.มีอยู่ 5.2 ล้านตัน/ปี
เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาก็สืบเนื่องมาจากการเปิดประมูลเพื่อซื้อ LNG ปริมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี เป็นระยะเวลา 8 ปีของกฟผ. ซึ่งเป็นการเปิดประมูลตามนโยบายเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซ LNG ของกระทรวงพลังงาน

 

โดยมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2560 อนุมัติหลักการและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมขาติ โดยต้องการให้กฟผ.เป็นผู้จัดหา LNG รายใหม่ นอกเหนือไปจากปตท.ที่เป็นผู้จัดหาเพียงรายเดียวอยู่ในขณะนี้
และต่อมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธานฯ ก็ได้เห็นชอบให้กฟผ.ดำเนินการจัดหา LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2562 ในอายุสัญญา 4-8 ปี โดยที่ราคาจัดหาต้องไม่สูงกว่าราคาต่ำสุดของสัญญา LNG ระยะยาวของไทยในปัจจุบันที่นำเข้าโดยปตท.
เมื่อกฟผ.ดำเนินการประมูลซื้อก๊าซ LNG ตามมติดังกล่าวจนได้ผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดจากบรรดาผู้เข้าเข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 12 รายแล้ว ได้นำเสนอรัฐมนตรีพลังงานพิจารณาเพื่อนำเข้าที่ประชุมกบง.ให้ความเห็นชอบ ก็ปรากฏว่าได้มีหนังสือทักท้วงมาจากทางปตท. เรื่องจึงยังคงค้างอยู่เพื่อรอรมซ.พลังงานคนใหม่มาตัดสินใจต่อไป

 

เรื่องนี้ในเชิงนโยบายต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่กำหนดให้มีการเปิดกว้างด้านการจัดหาก๊าซ LNG ซึ่งเป็นพลังงานหลักที่เราจะต้องพึ่งพามากขึ้นในอนาคต เพราะตามแผน PDP 2018 และ Gas Plan ของกระทรวงพลังงาน เราต้องนำเข้าก๊าซ LNG สูงถึง 32 ล้านตัน/ปี ในปี 2580 ดังนั้นเราจึงควรเปิดเสรีให้มีผู้นำเข้าหลายราย แทนที่จะเป็นปตท.เพียงรายเดียว

 

แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติ เพราะการจะใช้เชื้อเพลิงอะไรในการผลิตไฟฟ้า ต้องคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคมากจนเกินไป ดังนั้นในขณะที่กฟผ.ยังมีข้อผูกพันที่จะต้องรับก๊าซจากปตท.ตามสัญญาระยะยาวที่เซ็นกันเอาไว้ ก็อาจต้องเลื่อนการรับก๊าซจากปิโตรนาสออกไปก่อน หรือลดจำนวนการรับก๊าซลง เพื่อไม่ให้ต้องจ่ายค่า Take or Pay ซึ่งจะถูกนำไปคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องรับภาระในที่สุด

 

หมดยุคที่อะไรๆก็มาลงที่ประชาชนผู้บริโภคแล้วละครับ !!!
มนูญ ศิริวรรณ
28 มิ.ย. 2562
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://1th.me/VKVBf