กำไรของ ปตท.

0
210
วันก่อนผมได้มีโอกาสเข้าไปดูเฟซบุ๊คของกลุ่มผู้มีความเห็นต่างเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการด้านพลังงานที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ได้พบเห็นโพสต์หนึ่งระบุเอาไว้ว่า “รัฐสภาสหรัฐอเมริกายอมรับว่ากิจการปิโตรเลียมมีกำไร 5,800% ในขณะที่กิจการปิโตรเลียมของปตท.กลับมีกำไรเพียงแค่ 5%” แล้วผู้โพสต์ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงได้ต่างกันราวฟ้ากับเหวแบบนี้ และบอกต่อว่า เมื่อไปเปรียบเทียบกับเปโตรนาสของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่รายได้พอๆกับปตท. เขายังกำไรถึง 9 แสนล้านบาท ในขณะที่ปตท.กำไรแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

เรื่องกำไรของปตท.เป็นเรื่องที่ผมฟังแล้วสับสนมากว่า กลุ่มที่คัดค้านนโยบายพลังงานนั้นต้องการอะไรกันแน่ เพราะบางครั้งก็บอกว่าปตท.กำไรมากเกินไปเป็นแสนล้านบาท จากการผูกขาดและขูดรีดประชาชนโดยตั้งราคาน้ำมันแพงๆ แต่บางครั้งก็เอาไปเปรียบเทียบกับบริษัทน้ำมันต่างชาติโดยบอกว่ากำไรน้อยเกินไป แสดงว่าบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ สรุปก็คือ ไม่ว่าจะกำไรมากหรือน้อยก็ถูกจับมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ได้หมด

 

เรื่องกำไรของกิจการปิโตรเลียมที่ผู้โพสต์อ้างอิงรัฐสภาสหรัฐอเมริกาว่ามีกำไรถึง 5,800% นั้น ผมยอมรับว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน ถ้าเป็นจริงก็คงต้องตั้งคำถามว่า เขาหมายถึงกิจการโดยรวมหรือกิจการของบริษัทหนึ่งบริษัทใดโดยเฉพาะ และต้องดูด้วยว่าเป็นกิจการประเภทใด เพราะกิจการปิโตรเลียมแต่ละประเภทจะมีผลตอบแทนต่างกันตามความเสี่ยงในการทำธุรกิจ อย่างที่เขากล่าวว่า “เสี่ยงมาก ก็กำไรมาก” หรือ “ High Risk High Return”

 

แต่ผมยืนยันได้ว่าโดยทั่วไปแล้วไม่มีกิจการปิโตรเลียมใดในโลกนี้ที่มีกำไรโดยรวมสูงถึง 5,800% อย่างแน่นอน ขอให้ไปดูได้จากผลประกอบการของบริษัทน้ำมันข้ามชาติใหญ่ๆทั่วโลกอย่างเช่น ExxonMobil, Chevron, Royal Dutch Shell และ British Petroleum ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีรายงานการเงินที่ได้รับการรับรองจากบริษัทตรวจสอบบัญชีที่เชื่อถือได้

 

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าทำไมกำไรของปตท.จึงต่ำกว่าเปโตรนาส ทั้งๆที่รายได้พอๆกันนั้น ต้องบอกว่าการเปรียบเทียบกำไรต้องดูที่ลักษณะของการทำธุรกิจด้วย เพราะธุรกิจปิโตรเลียมแต่ละแบบมีผลตอบแทนต่างกัน เช่นธุรกิจขุดเจาะและสำรวจจะมีกำไรสูงกว่าธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีก เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่า เช่นเดียวกันกับธุรกิจส่งออกปิโตรเลียมก็จะมีกำไรดีกว่าธุรกิจค้าน้ำมันในประเทศ แต่ก็มีความเสี่ยงจากราคาที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว อย่างนี้เป็นต้น
ดังนั้นถ้าเราไปเจาะดูธุรกิจหลักของปตท.เทียบกับเปโตรนาสก็จะเห็นความแตกต่างของสองบริษัทนี้อย่างชัดเจน โดยธุรกิจหลักของปตท.คือโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นการทำธุรกิจค้าน้ำมันในประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยปตท.มีส่วนแบ่งตลาดธุรกิจน้ำมันในประเทศเป็นอันดับหนึ่งสูงถึง 36% ทิ้งอันดับสองที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 16%

 

แต่เปโตรนาสเป็นบริษัทน้ำมันที่มีธุรกิจหลักคือการสำรวจและผลิต รวมทั้งการส่งออกปิโตรเลียมเป็นรายได้สำคัญของบริษัท โดยส่งออกก๊าซธรรมชาติในรูปของ LNG สูงเป็นอันดับสามของโลก แต่ธุรกิจค้าปลีกของเปโตรนาสมีสัดส่วนในรายได้ของบริษัทน้อยมาก เพราะไม่ได้เป็นผู้นำตลาด ดังนั้นกำไรของเปโตรนาสส่วนใหญ่จึงผูกพันกับราคาน้ำมันและก๊าซ ถ้าราคาน้ำมันสูงกำไรก็สูงตามไปด้วย แต่ถ้าบางช่วงราคาน้ำมันตกต่ำ กำไรของเปโตรนาสก็จะหดหายไปเหมือนอย่างเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 50 $/บาร์เรล

 

ดังนั้นการที่กำไรของปตท.อยู่ที่ประมาณ 5-6% เมื่อเทียบกับรายได้ ผมก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
หรืออยากให้ปตท.กำไรเยอะกว่านี้ จะได้หาเรื่องด่าปตท.ได้มากขึ้น !!!
มนูญ ศิริวรรณ
21 มิ.ย. 2562
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://1th.me/Lj9fD