ชะตากรรมของโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก

0
265
ท่านที่ติดตามข่าวพลังงานควบคู่ไปกับข่าวการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะพบว่า ยิ่งข่าวการแพร่ระบาดและเสียชีวิตของผู้คนขยายตัวเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ข่าวร้ายในวงการน้ำมันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลถึงราน้ำมันในตลาดโลกให้ลดลงตามไปด้วย
ข่าวร้ายที่ว่าก็คือ ข่าวผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 และมาตรการของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ควบคุมการแพร่ระบาด โดยต้องใช้มาตรการทางปกครองและสังคมที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาด จนกระทบต่อความเคลื่อนไหวและกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเปิดธุรกิจ จำกัดการเดินทาง ปิดเมือง ปิดประเทศ ตลอดจนห้ามประชาชนออกนอกบ้าน และให้มีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งตอนนี้องค์การอนามัยโลกให้ชื่อใหม่ว่าระยะห่างทางกาย (Physical Distancing)
มาตรการดังกล่าวและความวิตกกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (Demand Destruction)
ในระยะแรก นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ก็ประเมินว่าความต้องการน้ำมันดิบโลกน่าจะลดลงประมาณ 10% ของความต้องการทั้งหมดในปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 100 ล้านบาร์เรล/วัน หรือลดลงประมาณ 10 ล้านบาร์เรล/วัน
แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเลวร้ายขึ้น ก็มีการปรับการประเมินใหม่ว่าน่าจะลดลง 15-20% หรือประม๊ณ 15-20 ล้านบาร์เรล/วัน จนล่าสุดได้มีการปรับการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันที่ลดลงในเดือนเมษายนว่าอาจสูงกว่า 30% หรือมากกว่า 30 ล้านบาร์เรล/วัน เลยทีเดียว
ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ และการควบคุมการพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ได้ผล ตลอดจนการเจรจาของกลุ่ม OPEC+ ยังไม่ชัดเจนว่าจะลดการผลิตได้จริง 10 ล้านบาร์เรล/วัน ตามที่ประชุมกันเมื่อวันที่ 9 เมษายน และจะได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตน้ำมันในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาช่วยลดการผลิตอีก 5 ล้านบาร์เรล/วัน หรือไม่
แน่นอนว่าปริมาณน้ำมันนั้นจะต้องล้นเกินความต้องการเป็นจำนวนมาก และสต๊อกน้ำมันดิบโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนไม่มีที่เก็บ นั่นหมายความว่าโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกจะต้องถูกกดดันให้ลดการกลั่นน้ำมันลง เพราะถ้ากลั่นออกมามากเต็มกำลังการผลิตก็ไม่มีคนซื้อ และไม่มีที่เก็บ
ดังนั้นวิบากกรรมของโรงกลั่นน้ำมันในปีนี้ นอกจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนซินจะติดลบ (ราคาน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ) ซึ่งทำให้ค่าการกลั่นตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 17 ปีแล้ว ยังจะต้องเผชิญกับการลดการกลั่น (กลั่นไม่เต็มกำลังการผลิต) โดยอาจต้องลดลง 10-20% ตามความต้องการน้ำมันที่ลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินกับน้ำมันเครื่องบิน ที่เคยทำกำไรโดยให้ค่าการกลั่นสูงมาตลอด
แต่ปีนี้ ความต้องการน้ำมันทั้งสองชนิดนี้จะลดลงอย่างรุนแรง และคาดว่าถึงแม้วิกฤติไวรัส COVID-19 จะสิ้นสุดลง แต่ความต้องการน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่องบินก็จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยที่มีอยู่ 6 โรง ย่อมยากที่จะหลีกหนีวิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกไปได้

ดังนั้น ใครที่บอกว่าอุตสาหกรรมโรงดลั่นน้ำมันของไทยกำไรดี ช่วยกำเงินมาซื้อไปบริหารซักแห่ง สองแห่งดูมั้ยครับ!!!.

มนูญ ศิริวรรณ
จากบทความ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 เม.ย. 2563

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3idxiJs