ฐานะของกองทุนน้ำมัน

0
723

ฐานะของกองทุนน้ำมัน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 มีมติเห็นชอบแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563 – 2567 แล้วนั้น ทาง สกนช.จะเดินหน้านำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ในปลายเดือนต.ค.นี้ พิจารณามาตรการดูแลเสถียรภาพเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะเสนอให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในช่วงที่ราคาลง เพื่อสะสมเงินกองทุนน้ำมันฯ ให้มีสภาพคล่องเพียงพอตามที่พรบ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนด

เบื้องต้น มีแนวคิดจะเสนอให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่มทั้งในส่วนของกลุ่มเบนซินและดีเซล โดยเฉพาะกลุ่มดีเซล ซึ่งขณะนี้ราคาขายปลีกอยู่ในระดับต่ำมากที่ประมาณ 18.89 บาทต่อลิตร(ประกาศปรับราคาล่าสุด วันที่ 20 ต.ค.63) จากอดีตที่เคยกำหนดให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ส่วนจะเรียกจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯเพิ่มในน้ำมันแต่ละชนิดในอัตราเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับ กบน.จะพิจารณาความเหมาะสม แต่ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯมีเงินสะสมได้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และในยามเกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมัน กองทุนฯสามารถกู้ได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท

ในเว็บไซด์ของสกนช.ได้รายงานฐานะของกองทุนน้ำมันฯเมื่อวันที่ 25 ต.ค.เอาไว้ว่ามีเงินกองทุนคงเหลือ 29,147 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 20,904 ล้านบาท และแอลพีจี 8,243 ล้านบาท แต่ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯมีภาระต้องจ่ายเงินอุดหนุนราคาแอลพีจีเดือนละ 493 ล้านบาท และอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ (แก๊สโซฮอล E20, E85 ไบโอดีเซล B10, B20) อีกเดือนละ 709 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,202 ล้านบาท/เดือน

ถ้าราคาน้ำมันและก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกไม่เปลี่ยนแปลง และรัฐบาลยังคงนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานอย่างนี้ต่อไป กองทุนน้ำมันฯจะหมดลงในเวลา 2 ปี และจะเริ่มติดลบจนต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง 

ดังนั้นแนวคิดของผอ.สกนช.ที่จะเสนอให้มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่มในจังหวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจึงไม่ใช่ความคิดที่ “กระต่ายตื่นตูม” จนเกินไป แต่เป็นการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว

อย่างไรก็ตามนอกจากการเก็บเงินเข้ากองทุนฯแล้ว สิ่งที่สกนช.ควรเสนอให้คบน.พิจารณาควบคู่กันไปด้วยคือ การลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินไหลออกจากกองทุนฯไปได้บ้าง ถ้าในระยะนี้ยังมีความจำเป็นต้องอุดหนุนราคาแอลพีจีอยู่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ก็ควรเร่งพิจารณาลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพลง ตามที่พรบ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดให้ทำภายใน 3 ปี

โดยเฉพาะกับเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีความสำคัญน้อยและไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่กองทุนฯต้องจ่ายเงินอุดหนุนสูง เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก อย่างเช่น แก๊สโซฮอล E85 และไบโอดีเซล B20 เป็นต้น

เอาของแพงมาผสมกับของถูกก็ควรผสมแต่พอสมควรครับ !!!

 

ℹ️ บทความโดย มนูญ ศิริวรรณ

30 ต.ค. 2563