ทำขยะสกปรกให้เป็นพลังงานสะอาด

0
435

ขยะมูลฝอยเป็นปัญหากองใหญ่ของบ้านเรามาโดยตลอด ในปี 2561 พวกเราสร้างขยะรวมกันหนักถึงเกือบ 28 ล้านตัน คือโดยเฉลี่ยคนไทยแต่ละคนก่อให้เกิดขยะวันละประมาณ 1.2 กิโลกรัม ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่ตลาด ที่ร้านรวงศูนย์การค้า และที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

สถิติของภาครัฐชี้ให้เห็นว่า ในจำนวนขยะ 28 ล้านตันนี้ ส่วนใหญ่มีการกำจัดอย่างถูกต้องหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ แต่ยังเหลืออีกประมาณหนึ่งในสี่หรือประมาณ 7 ล้านตันที่ยังไม่มีการกำจัดอย่างถูกต้อง ถูกปล่อยให้ตกค้างสะสมส่งกลิ่นเน่าเหม็นอยู่ในกองขยะที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

วิธีหนึ่งที่จะบรรเทาปัญหาขยะส่วนเกินที่ตกค้างอยู่นี้ได้ คือนำมันไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงาน ทั้งที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานและที่อยู่ในรูปของไฟฟ้า วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย พลังงานจากขยะจึงถือเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

นอกจากผลิตไฟฟ้าแล้ว เรายังสามารถนำเอาขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้เผาในโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เชื้อเพลิงชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “เชื้อเพลิงขยะ” หรือ “refuse derived fuel” หรือ RDF

หลายประเทศลงทุนในโครงการผลิตพลังงานจากขยะ โดยมีขนาดและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและที่ล้มเหลว

ประเทศไทยมีโรงงานที่ผลิตพลังงานจากขยะอยู่หลายแห่ง ทั้งที่ผลิตไฟฟ้าและที่ผลิตเฉพาะ RDF มีทั้งที่อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและที่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่มีการดำเนินงานที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก ประสบการณ์ในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า การผลิตพลังงานจากขยะไม่ใช่เป็นเรื่องหมูๆ เลย แต่มีปัญหาหลากหลายมากมาย

ในเบื้องต้นเลย การจัดการเกี่ยวข้องกับขยะมีผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่เก็บและกำจัดขยะ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการแยกขยะ (นำเอากระดาษ กระป๋อง พลาสติก โลหะ ฯลฯ ไปขายเพื่อ recycle) ผู้รับจ้างเก็บและขนขยะไปทิ้ง ผู้บริหารจัดการกอง/หลุมขยะ รวมทั้ง หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะ ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนผลิตพลังงานจากขยะก็จะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้มีปัญหากับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้

หลายโครงการประสบปัญหาทางเทคนิคเพราะเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมบางแห่งใช้เทคโนโลยีที่อาจทำงานได้ดีในต่างประเทศ แต่ใช้ไม่ได้ผลกับขยะในเมืองไทยที่มีสัดส่วนของขยะเปียกค่อนข้างสูง (กรุงเทพฯ มีส่วนผสมของขยะเปียก เช่น เศษอาหาร มากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะโดยรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย)

หลายแห่งไม่มีการแยกขยะอย่างถูกวิธีก่อนส่งเข้าโรงงาน ทำให้เครื่องจักรอุปกรณ์ชำรุดเสียหายบ่อยและเร็วเกินไป อะไหล่มีราคาแพงและหลายชิ้นต้องนำเข้า พนักงานในโครงการก็มีประสบการณ์และความรู้ไม่เพียงพอ การเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าและ RDF จึงทำได้ไม่เต็มที่และต่อเนื่อง

อุปสรรคสำคัญอีกข้อหนึ่งคือปัญหาการเงิน การลงทุนเพื่อผลิตพลังงานจากขยะมักต้องใช้เงินค่อนข้างสูงเพราะเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และต้องมีความทนทานเป็นพิเศษเพื่อรองรับกับขยะของเมืองไทยที่มีลักษณะค่อนข้างเปียกชื้นและมีชิ้นส่วนแปลกปลอมปะปนอยู่มาก

 

ค่าใช้จ่ายดำเนินการก็มีไม่น้อย มีทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้าง เงินเดือนและวัสดุต่างๆ รวมไปจนถึงค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ชำรุดสึกหรอได้ค่อนข้างมาก

ในฝั่งของรายได้ ไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะส่วนใหญ่จะส่งขายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ในราคารับซื้อที่หน่วยละ 5.78 บาท ซึ่งเป็นอัตรา feed-in-tariff ที่สูงเป็นพิเศษตามนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

 

ส่วน RDF จะส่งขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าบางประเภท ในราคาเริ่มต้นตันละ 500 ถึง 1200 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพและค่าความร้อนของเชื้อเพลิงนั้น หากโรงผลิต RDF อยู่ไกลจากผู้ใช้ ก็ยิ่งต้องรับภาระค่าขนส่งมากขึ้น ทำให้รายได้สุทธิของโครงการ RDF ลดลงไปอีก

โดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าลำพังรายได้จากไฟฟ้าและ RDF ไม่สามารถทำให้การลงทุนผลิตพลังงานจากขยะมีความคุ้มค่าทางการเงินได้ หลายโครงการดำเนินการได้โดยไม่ขาดทุนเพราะมีรายได้เพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ เช่น ได้รับส่วนแบ่งจากค่ากำจัดขยะ (หรือ tipping fee) และเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะจะช่วยลดปริมาณขยะสะสมตกค้างและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นก็ตาม แต่โรงไฟฟ้าขยะเองก็ถูกต่อต้านจากชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า เพราะกลัวกันว่าการขนส่งและเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ทั้งที่เป็นฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็น โครงการผลิตพลังงานจากขยะจะสำเร็จได้จึงต้องมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงและได้รับการยอมรับจากชุมชนด้วย

ประสบการณ์จากโครงการผลิตพลังงานจากขยะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกชี้ให้เห็นถึงบทเรียนอย่างน้อยสามประการ คือ

ประการแรก เราหวังไม่ได้ว่าการผลิตพลังงานจากขยะจะเป็นการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระยะยาว หัวใจสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะที่สมบูรณ์แบบคือการลดปริมาณขยะ (reduce) และการแยกขยะอย่างถูกวิธีที่จะทำให้มีการนำขยะไปใช้ใหม่ (reuse) และหมุนเวียนมาใช้ซ้ำ (recycle) ให้ได้มากที่สุด พลังงานจากขยะเป็นเพียง “ตัวช่วย” ในการแก้ไขปัญหาขยะเท่านั้น

ประการที่สอง ปริมาณพลังงานที่ผลิตได้จากขยะมักมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณพลังงานที่ต้องผลิตและใช้ทั้งหมดในประเทศ ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากขยะทั่วประเทศไทยเป็นประมาณ 500 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งคิดเป็นแค่ 2% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศในปัจจุบัน ดังนั้น การให้เงินอุดหนุนกับโครงการผลิตพลังงานจากขยะจึงไม่น่าจะเป็นภาระมากนักต่อผู้ใช้พลังงานโดยรวม

ประการที่สาม การลงทุนเพื่อผลิตพลังงานจากขยะควรได้รับการพิจารณาควบคู่กับ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการขยะในภาพรวม การประเมินความคุ้มค่าของโครงการพลังงานจากขยะจึงต้องคำนึงถึงต้นทุนและประโยชน์อันเกิดจากทั้งการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงาน

9 ธันวาคม 2562
พรายพล คุ้มทรัพย์
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3evP9sG