ทำไมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจึงเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง

0
1234

ทำไมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจึงเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง

ในบทความก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนเอาไว้ว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าในบ้านเราเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจพลังงานประเภทอื่น ๆ ที่ผลิตพลังงานเพื่อความมั่นคงเหมือนกัน อย่างเช่นโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

             วันนี้เราจะมาเจาะลึกในรายละเอียดกันว่าธุรกิจการผลิตไฟฟ้าในบ้านเรามีความเสี่ยงต่ำอย่างไร ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าที่รัฐคิดกับผู้ใช้ไฟเป็นอย่างไร

โครงสร้างค่าไฟฟ้าปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน (ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, ระบบสายส่ง, ระบบจำหน่าย, ค่าผลิตพลังงานไฟฟ้าภายใต้สมมุติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้าราคาเชื้อเพลิงและผลตอบแทน ณ วันที่กำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้า)
  2. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที (สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากค่าไฟฟ้าฐาน, ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ เช่น ค่าส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า หรือ Adder ค่า Feed in Tariff-FiT, กองทุนพัฒนาไฟฟ้า)
  3. ค่าบริการรายเดือน ซึ่งจะแตกต่างไปตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก, ขนาดกลาง, ขนาดใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง, องค์การที่ไม่แสวงหากำไร, กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตรและผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว และ
  4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.61 บาทต่อหน่วย ต้นทุนส่วนใหญ่จะมาจากระบบผลิต ถึงประมาณ 79% รองลงมาคือค่าระบบจำหน่ายทั้งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประมาณ 15% และค่าระบบส่งประมาณ 7%

จะเห็นว่าค่าลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่ายตลอดจนผลตอบแทนการลงทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งค่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาซื้อขายพลังงานระยะยาวที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่สร้างโรงไฟฟ้าล้วนถูกคิดรวมไว้ในค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนทั้งสิ้น (ข้อ 1 และ 2)

นอกจากนั้นในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ยังมีค่าไฟฟ้าที่เรียกว่าค่า AP (Availability Payment) หรือค่าความพร้อมจ่าย เป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายให้โรงไฟฟ้าประเภทใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินจะจ่ายให้ “เมื่อโรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (available)” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่สัญญาว่า จะจ่ายไฟฟ้าได้มั่นคง

สาเหตุที่มีการจ่ายค่า AP ก็เพื่อเป็นเงื่อนไขให้โรงไฟฟ้าต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดวันและสำรองให้พร้อมจ่ายไฟฟ้ากรณีมีข้อขัดข้องเกิดกับโรงไฟฟ้าระบบส่งไฟฟ้า หรือระบบส่งเชื้อเพลิง รวมทั้งช่วยเสริมการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนคือ พลังงานแสงแดด พลังงานลม ชีวมวล และชีวภาพซึ่งการจ่ายไฟฟ้ามีความไม่แน่นอน

ขณะที่ค่า EP (Energy Payment) หรือค่าพลังงานไฟฟ้า เป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าต้องรับประกันประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าว่าผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ต้องใช้เชื้อเพลิงเท่าไหร่ ถ้าหากมีการใช้เชื้อเพลิงมากกว่าที่รับประกัน เจ้าของโรงไฟฟ้าต้องรับภาระในส่วนนี้เอง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างราคาและรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ดังกล่าว เป็นรูปแบบที่รัฐบาลปิดความเสี่ยงให้ผู้ผลิตและผลักภาระทั้งหมดให้กับผู้บริโภคจริง ๆ !!!.