นโยบายพลังงานที่จับต้องได้

0
806

นอกจากเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนที่ผมเขียนถึงในสัปดาห์ที่แล้ว นโยบายพลังงานอื่นๆ ที่ต้องเร่งทำในช่วงแรกของการเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ของนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ คือ การเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 23) พร้อมเดินหน้าเจรจาการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา อีกทั้งต้องเร่งรัดนโยบาย Asean Grid เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบถึง 40% อยู่ในขณะนี้

เรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่น่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องน่าหนักใจของท่านรัฐมนตรีนักเพราะทราบมาว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมหลักเกณฑ์และร่างเชิญชวนเอกชนที่สนใจยื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิต (TOR) ที่จะประกาศไว้พร้อมแล้ว

แต่ท่านรัฐมนตรีต้องการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปสำรวจความสนใจของนักลงทุนก่อนว่าหากมีการเปิดประมูลในช่วงนี้จะยังมีผู้สนใจที่จะยื่นขอสิทธิสำรวจอยู่หรือไม่ เพราะขณะนี้ราคาพลังงานไม่สูง และราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ

เรื่องนี้ผมคิดว่าเราเสียโอกาสที่จะนำทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่เรามีอยู่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ไปมากแล้ว เพราะการเปิดให้มีการยื่นขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 นี้ต้องล่าช้ามาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว ตั้งแต่น้ำมันมีราคาสูงที่ 100$/ bbl. จนกระทั่งราคาตกต่ำลงมาอยู่ที่ 40$/ bbl. ในปัจจุบัน

ดังนั้นผมคิดว่าเราไม่น่าจะชักช้าหรือรอต่อไป เพราะโอกาสที่ราคาน้ำมันจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ถ้าไม่เปิดประมูลให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปก็จะไม่ทราบว่ามีผู้ใดสนใจบ้าง และถึงแม้เปิดประมูลไปแล้วแต่มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยหรือเสนอผลตอบแทนไม่น่าสนใจ เราก็สามารถยกเลิกการประมูลได้

ส่วนความคิดที่ว่าถ้าของนำเข้าราคาถูกก็ซื้อเขามาใช้ไปก่อน ส่วนทรัพยากรของเราที่มีอยู่ก็เก็บไว้ให้ลูกหลานนั้น

ผมเกรงว่าถึงตอนนั้นมันจะไม่มีค่าเพราะเขาหันไปใช้พลังงานอย่างอื่นกันหมดแล้ว!!!.

 

ℹ️ ที่มาบทความ คอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” เรื่อง “นโยบายพลังงานที่จับต้องได้” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2563
ℹ️ โดย มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน