นโยบาย LNG Hub เอื้อประโยชน์ใคร?

0
319
นโยบาย LNG Hub เอื้อประโยชน์ใคร?
เมื่อเดือนที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงต้นเดือนนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานได้ออกเดินสายรับฟังความเห็นจากประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง รวม 4 ครั้ง เพื่อรายงานความคืบหน้าของการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปที่ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อการปฏิรูป เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแผนในระยะต่อไปการรับฟังความเห็นในแต่ละภาคได้รับความสนใจจากประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภาคกลางที่มีผู้เข้าร่วมการรับฟังและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และมีความคิดเห็นดีๆมากมายที่คณะกรรมการฯจะนำไปพิจารณา ปรึกษาหารือกับผู้รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขหรือบรรจุลงในแผนต่อไป ในการประชุมรับฟังความเห็นที่จัดขึ้นทั้งสี่ภาค คณะกรรมการฯพบว่ายังมีความไม่เข้าใจในแผนการปฏิรูปบางข้อที่มีการบรรจุอยูในแผน เช่น การเสนอให้ยกเว้นนโยบายที่กำหนดให้กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว (Enhancing Single Buyer) หรือ การเสนอให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ของภูมิภาคอาเซียน (LNG Hub) เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจกันอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นพบว่ามีผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนปฏิรูปฯอย่างมีอคติผ่านเฟซบุ๊คว่า แผนปฏิรูปสะท้อนแต่ความต้องการของภาคธุรกิจที่เน้นกำไร การส่งเสริมให้ไทยเป็น LNG Hub นั้น ผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับผู้ค้าก๊าซที่มีเอกชนถือหุ้นอยู่ 49% ที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซอยู่ในขณะนี้ และปัจจัยเดียวที่สนับสนุนการเป็น LNG Hub ของไทย คือ การผลิตก๊าซในอ่าวไทย และผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พร้อมทั้งโยงไปถึงการถมทะเลและราคา LPG อีกด้วย ผมในฐานะกรรมการปฏิรูปฯคนหนึ่งจึงขอทำความเข้าใจผ่านบทความนี้ว่า
1. แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานฉบับนี้เขียนขึ้นจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีประสบการณ์ตรงด้านพลังงานทั้งสิ้น ในแผนไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ระบุถึงนโยบายหรือการปฏิรูปที่จะสร้างกำไรให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ มีแต่จะลดทอนลงจากการลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขัน
2. เหตุผลที่เสนอให้ไทยเป็น LNG Hub ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในแถบ CLMV ก็เพราะ LNG จะเป็นเชื้อเพลิงหลักของภูมิภาคนี้ในอนาคต และไทยต้องนำเข้า LNG เพื่อใช้เองอยู่แล้วถึง 30 ล้านตัน/ปี ในปี 2578
(จาก 5 ล้านตัน/ปี ในปัจจุบัน)
ดังนั้นเราก็ควรทำตัวเป็น Trading Hub นำเข้ามาขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียตนามด้วย เพราะถ้าเรามีอำนาจการซื้อสูง เราก็สามารถต่อรองราคาได้มากขึ้น ราคาที่เราซื้อมาใช้เองก็จะถูกลง ทำให้ค่าไฟถูกลงด้วย ผลประโยชน์ก็จะตกกับประชาชนที่ใช้ก๊าซและใช้ไฟฟ้านั่นเอง
3. ก๊าซในอ่าวไทยมีแต่จะหมดไป และต้องถูกทดแทนโดยก๊าซนำเข้า คือ LNG ดังนั้นการผลิตก๊าซในอ่าวไทยจึงไม่ใช่ปัจจัยสนับสนุนการเป็น LNG Hub ของไทยตามที่ท่านกูรูเข้าใจแต่อย่างใด
4. LNG นำเข้า เอาไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ เอาไปเข้าโรงแยกก๊าซทำเป็น LPG ก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการถมทะเลเพื่อสร้างที่เก็บก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ตลอดจนโครงสร้างราคา LPG อย่างที่ท่านจินตนาการแต่อย่างใดทั้งสิ้น
5. คณะกรรมการฯได้เสนอให้มีการเปิดเสรีการนำเข้า LNG โดยลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซในอนาคต ตามที่ท่านเรียกร้อง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความกระจ่างของประชาชนในเรื่องแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยเฉพาะเรื่อง LNG Hub ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และประโยชน์ในเรื่องนี้จะตกอยู่กับใคร หวังว่าท่านกูรูจะเข้าใจมากขึ้นนะครับ !!!
 ศิริวรรณ
จากบทความ “พลังงานรอบทิศ” ในนสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2563
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2VmCWz7