ผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

0
239
ผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย
จากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในภาคพลังงานในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
โดย คุรุจิต นาครทรรพ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงานในคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สปท.
19 พ.ย. 2562

 

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้รับทราบรายงานฉบับหนึ่งจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เกี่ยวกับการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Reduction) ในภาคพลังงานของประเทศไทย ที่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสิบปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือ NAMAs) ที่รัฐบาลไทยได้ไปแสดงเจตจำนงไว้ต่อสหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ภายใต้กลไกCOP16 และพิธีสารความตกลงเกียวโต (Kyoto Protocol 1997) ว่าด้วยการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันเป็นปัญหาที่มีความท้าทายมากต่อมวลมนุษย์ ทุกชาติ ทุกภาษา ในโลกแห่งยุคศตวรรษที่ 21 นี้

 

ที่มาของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติในปลายปี 2557 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง (pledge) ในการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทย(NAMA) โดยรัฐบาลไทยก็ได้เสนอเป้าหมายตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจกในลักษณะเป็นช่วง(range) คือจะลดที่ร้อยละ 7 ถึงร้อยละ 20 ลงจากตัวเลขคาดการณ์ของการปล่อยในกรณีปกติ(Business as Usual: BAU) ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยจะดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ตามมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสองภาคส่วนคือ ภาคพลังงานและภาคคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยไทยได้ยื่นเป็นหนังสือแสดงเจตจำนงNAMA pledge นี้ต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 (ค.ศ.2014)

 

ก่อนที่ผมจะเฉลยว่าไทยเราลดก๊าซเรือนกระจกในรอบสิบปีนี้ได้เท่าใด เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เป้าหมายที่ไทยประกาศเป็นเจตจำนง (NAMA) ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากกรณีปกติ (BAU) ที่ร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563 (2010) นั้น หมายถึงจะลดเท่าไหร่ และจะลดอย่างไร?
กระทรวงพลังงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน โดยนำตัวเลขที่คำนวณจากมาตรการผลิตและใช้พลังงานต่าง ๆ ในกรณีที่หากไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพหรือพยายามลดการปล่อย CO2 จากกิจกรรมเหล่านั้นเลย (คือปล่อยให้วิถีชีวิตและการพัฒนาดำเนินไปในแบบเดิม ๆ Business as Usual) ตัวเลขแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2548 (2005) เป็นต้นมา จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไร จากนั้นก็นำมาตรการต่าง ๆ ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันจัดทำและส่งเสริมภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงานของไทย มาคำนวณและประมาณการตามหลักวิชาการว่ามาตรการพลังงานสะอาดและประหยัดพลังงานเหล่านั้นจะช่วยชะลอหรือลดการเพิ่มของก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยออกมาจากการผลิตหรือใช้พลังงานต่าง ๆ ลงจากการปล่อยในกรณี Business as Usual นั้นได้เท่าใด ซึ่งก็พบว่า กระทรวงพลังงานสามารถกำหนดมาตรการ รวมทั้งส่งเสริมและโน้มน้าวให้องค์กรต่าง ๆ ในภาคพลังงานปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม การออกแบบอาคารให้อนุรักษ์พลังงานยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร การผลิตและใช้เอทานอลทดแทนน้ำมันเบนซินในรูปของแก๊สโซฮอล์ และการผลิตไบโอดีเซล B100 เพื่อผสมและใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลบางส่วนในรูปของน้ำมันไบโอดีเซล เป็นต้น โดยภายใต้แผนและมาตรการต่าง ๆ เหล่านั้นกระทรวงพลังงานได้ประเมินว่าจะสามารถช่วยชะลอและลดการเพิ่มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยโดยรวมลงได้อย่างน้อย 24 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2563 (หรือจะลดลงได้ร้อยละ 6.35 จากตัวเลข BAUที่คาดว่าจะปล่อย CO2 ทั้งสิ้นในปี 2563 ที่ปริมาณCO2 367.44 ล้านตัน) และประเมินต่อไปด้วยว่าหากมีการลงทุนส่งเสริมในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนและประหยัดพลังงานอย่างจริงจังในประเทศ รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล) ในรถยนต์รวมทั้งมีแผนการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองหลวงมากขึ้น ไทยเราก็อาจจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อีก 50 ล้านตัน คือรวมเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ไทยเราอาจจะลดการปล่อยCO2 ได้ถึง 74 ล้านตัน (จากกรณี BAU) ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) หรือเทียบเท่ากับการจะลดลงร้อยละ 19.86 จากตัวเลขการปล่อย CO2 ที่ฐานปกติ BAU จึงเป็นที่มาของการนำเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2563 ที่ร้อยละ 7 – 20 จากกรณี BAU ที่มาจากภาคพลังงานและภาคคมนาคมขนส่ง

 

เป็นที่น่ายินดีมากว่า ณ สิ้นปี 2560 (ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่เก็บข้อมูลและนำมาประเมินผลกับทวนสอบ) คณะทำงานประสานงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงาน ได้รายงานสรุปผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่นำไปปฏิบัติตามมาตรการด้านพลังงานต่าง ๆ พบว่าไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้รวมทั้งสิ้น 51.72 ล้านตัน หรือลดลงได้ร้อยละ 14 จากการปล่อยCO2 ในกรณี BAU จึงเท่ากับว่า แม้จะยังไม่ถึงปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดของช่วงเวลาตามพิธีสารเกียวโตก็ตาม แต่ประเทศไทยของเราก็สามารถดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกได้เกินกว่าเป้าหมายขั้นต่ำ (คือร้อยละ 7) กว่าเท่าตัวแล้ว โดยตัวเลขการลดก๊าซCO2 ที่คำนวณได้ 51.72 ล้านตันนี้ ได้มีการประเมินผลและสอบทานโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากลเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก็จะได้นำผลความก้าวหน้าของไทยในการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย NAMA ข้างต้นรายงานต่อสำนักเลขาธิการ UNFCCCในรายงานความก้าวหน้า (Biennia Updated Report: BUR)และรายงานแห่งชาติ (National Communication: NC)ที่จะเสนอต่อสหประชาชาติต่อไป โดยสรุปปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยจากกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคพลังงาน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2560 มีรายละเอียดดังนี้

 

สรุปผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการด้านพลังงาน ในปี พ.ศ. 2560
จึงนับเป็นผลงานการบูรณาการระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่น่าภาคภูมิใจ ว่าไทยได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพื่อช่วยควบคุมมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้

 

ก้าวต่อไปที่จะท้า-ทายรัฐบาลไทยและคนไทยทุกคนยิ่งขึ้นไปอีก คือการแสดงเจตจำนงของไทยครั้งล่าสุดภายใต้กรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement 2015) ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ยื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่กรุงปารีส ว่านับจากปี 2563 (2020) เป็นต้นไป ไทยขอแสดงเจตจำนงที่เรียกว่า Nationally Determined contribution หรือ NDC ในการลดก๊าซเรือนกระจกลงอีกร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติ (BAU) ที่มีขอบเขตครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ที่กว้างขึ้น ( from economy-wide sectors) ได้แก่ พลังงาน คมนาคมขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรม การจัดการของเสีย การเกษตรและป่าไม้ โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซ CO2ในปี 2573 ลงเท่ากับ 111 ล้านตัน (หรือลด 20%) จากตัวเลขคาดการณ์กรณี BAU ที่คาดว่าจะปล่อยที่ 555 ล้านตันเทียบเท่า CO2 ครับ.
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2BbHQIf