ผลประโยชน์ร่วมกัน ต้านราคาน้ำมันตกต่ำ

0
245
ผลประโยชน์ร่วมกัน ต้านราคาน้ำมันตกต่ำ
พรายพล คุ้มทรัพย์
ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนอีกรอบหนึ่งแล้ว
เมื่อต้นเดือนมกราคมปีนี้ น้ำมันยังขายในราคาเกิน 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล แต่หลังจากนั้นก็ลดฮวบลงอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงระดับเหนือ 20 เหรียญฯ เพียงเล็กน้อยในปลายเดือนมีนาคม
แล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนก็กระโดดขึ้นมาอีกอย่างรวดเร็วอยู่ที่ประมาณ 25 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงนี้คงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะคนใช้น้ำมันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเครื่องบินและรถราต่างๆ บนท้องถนนวิ่งน้อยลง เมื่อผู้คนทั่วโลกต้องลดและงดการเดินทางตามมาตรการ social distancing เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19
คาดกันว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกในช่วงที่มีโรคระบาดโควิด-19 ลดลงอย่างน้อย 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คือลดลงประมาณ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แต่สิ่งที่ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันจมดิ่งลงมากขึ้นคือ การที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะลดการผลิตลงเท่าไหร่อย่างไรเพื่อพยุงราคา ผลปรากฏว่าซาอุฯ กลับเร่งผลิตน้ำมันส่งออกมากขึ้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาด ทำให้น้ำมันล้นตลาดอย่างมากมาย มีอยู่ช่วงหนึ่งซึ่งมีข่าวว่าราคาน้ำมันอาจจะติดลบเพราะน้ำมันที่ผลิตออกมาไม่มีถังสำรองที่จะเก็บไว้ได้ บางส่วนเอาไปเก็บสำรองไว้ในเรือบรรทุกน้ำมันแล้ว
ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ เพราะประธานาธิบดีทรัมพ์ของสหรัฐฯ ออกมาคาดการณ์ว่าซาอุฯ และรัสเซียจะตกลงกันลดการผลิตน้ำมันลงได้
หลายคนคงสงสัยว่าซาอุฯ รัสเซีย และสหรัฐฯ สามประเทศนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดน้ำมันโลกอย่างไร
สามประเทศนี้คือผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกสามอันดับแรกในปีที่แล้ว โดยสหรัฐฯ ผลิตได้มากที่สุดประมาณ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามประเทศนี้รวมกันผลิตน้ำมันได้ประมาณ 30% ของโลก
สามประเทศนี้คือผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยในปีที่แล้วซาอุฯ ส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง รัสเซียเป็นอันดับสอง และสหรัฐฯ เป็นอันดับสี่ สามประเทศนี้รวมกันส่งออกน้ำมันได้ประมาณ 45% ของโลก
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนสถานะของตนเองจากการเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดเป็นที่สองรองจากจีน มาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก เพราะสหรัฐฯ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในประเทศได้จากชั้นหินดินดาน หรือที่เรียกว่า shale oil/gas และทำให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้อีกหนึ่งเท่าตัวภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี
แต่สามประเทศนี้มีต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบที่แตกต่างกันมาก ซาอุฯ มีต้นทุนต่ำสุดที่ประมาณ 3 เหรียญต่อบาร์เรล รัสเซียมีต้นทุนประมาณ 18 เหรียญต่อบาร์เรล
ส่วนสหรัฐฯมีต้นทุนสูงที่สุดโดย shale oil มีต้นทุนตั้งแต่ 90 เหรียญลงไปจนถึง 30 เหรียญต่อบาร์เรล
ดังนั้น ราคาน้ำมันที่ 20 เหรียญย่อมทำให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯ ต้องขาดทุนอย่างแน่นอน และหลายบริษัทที่ผลิต shale oil ก็กำลังเตรียมตัวล้มละลายแล้ว
ราคาน้ำมันที่ตกต่ำก็ไม่ใช่ข่าวดีสำหรับซาอุฯ และรัสเซีย เพราะทั้งสองประเทศต้องอาศัยรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซเป็นส่วนสำคัญของงบประมาณ ราคาน้ำมันที่จะทำให้ซาอุฯ ปิดหีบงบประมาณได้อยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญ
ทั้งสามประเทศนี้จึงมีผลประโยชน์ร่วมกันที่จะทำให้ราคาน้ำมันไม่ลดต่ำจนเกินไป อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 30 ถึง 40 เหรียญ
ในยามที่น้ำมันล้นตลาดอยู่ในขณะนี้ วิธีเดียวที่จะดึงราคาให้สูงขึ้นได้ก็โดยการลดการผลิตและการส่งออก ซึ่งในงวดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างโอเปค ซาอุฯ กับรัสเซียเท่านั้น แต่สหรัฐฯ ก็อาจจะต้องมีส่วนร่วมในการลดการผลิตนี้ด้วย
คำถามก็คือสหรัฐฯ จะมีวิธีลดการผลิตน้ำมันได้อย่างไร เพราะการตัดสินใจลงทุนและผลิตอยู่ในมือของบริษัทน้ำมันที่เป็นเอกชน ไม่ใช่เป็นของรัฐ
สำหรับประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันเช่นประเทศไทย เราก็คงได้แต่มองตาปริบๆ และสงสัยว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เหล่านี้เขาจะเล่นเกมกันอย่างไร ในยามที่โรคระบาดโควิด-19 กำลังสร้างความยากลำบากให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก เราคงได้แต่ภาวนาว่า ราคาน้ำมันคงจะไม่แพงเกินไป จนทำให้เราต้องยากลำบากมากขึ้น
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3fYXpBL