พลังงานหมุนเวียนในยุคโควิดระบาด

0
1479

พลังงานหมุนเวียนในยุคโควิดระบาด

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ International Energy Agency (IEA)  ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง Renewables 2020 (หรือ พลังงานหมุนเวียน ปี 2020) โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจสมควรนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

ในปี ค.ศ. 2020 ที่โรคโควิด 19 กำลังระบาดอย่างรุนแรงอยู่นี้ IEA คาดว่าการล็อกดาวน์และความตกต่ำทางเศรษฐกิจจะทำให้ความต้องการใช้พลังงานโดยรวมของโลกมีปริมาณลดลงประมาณ 5% แต่ปรากฏว่าปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้นเกือบ 7%

สาเหตุที่พลังงานหมุนเวียนในไฟฟ้ายังขยายตัวได้เป็นเพราะต้นทุนของการลงทุนในเซลล์แสงอาทิตย์ และพลังงานลมยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลในหลายประเทศยังมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอยู่ โครงการลงทุนหลายแห่งที่ได้ใบอนุญาตแล้วและยังค้างท่ออยู่ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้  IEA พยากรณ์ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นได้ทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้พลังงานมากๆ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบางประเทศในยุโรป

IEA เชื่อว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าจะยังขยายตัวได้ดีต่อไปในอนาคต เซลล์แสงอาทิตย์ (solar PV) และกังหันลมบนบก (onshore wind) ในปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ในช่วงเวลาห้าปีข้างหน้า 95% ของการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าทั่วโลกจะอยู่ในรูปของพลังงานหมุนเวียน

กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานลมและเซลล์แสงอาทิตย์รวมกันทั่วโลก จะมีขนาดใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในปี ค.ศ. 2023 และจะแซงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในปี ค.ศ. 2024 พลังงานหมุนเวียนจะแซงถ่านหินและกลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี ค.ศ. 2025 โดยจะผลิตได้ถึงหนึ่งในสามของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโลก การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนจะมีปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด โดยมีเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานลม เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญรองลงไป

ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิดเท่าใดนัก แต่พลังงานหมุนเวียนในภาคขนส่งกลับได้รับผลกระทบอย่างมาก คาดว่าการใช้น้ำมันชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) ทั่วโลกในปีนี้จะลดลงถึง 12% ซึ่งเป็นการลดครั้งแรกในรอบ 20 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะการเดินทางและขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลจากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม IEA คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันชีวภาพจะฟื้นตัวได้ในปีหน้าและต่อเนื่องไปอีกห้าปีข้างหน้า โดยจะมีการใช้เพิ่มขึ้นทั้งในจีน บราซิล สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงอันเนื่องมาจากโรคระบาดทำให้การใช้พลังงานในรูปของความร้อนทั้งในอุตสาหกรรมและในอาคารลดลงในปีนี้ และมีผลทำให้ความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อความร้อนลดลงไปด้วย  IEA คาดว่าการผลิตความร้อนจากพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วงห้าปีข้างหน้า ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารพานิชย์ และที่อยู่อาศัย

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในหลายประเทศจะมุ่งส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน  คาดว่ารัฐบาลของหลายประเทศเหล่านี้จะใช้เงินฟื้นฟูเพื่ออุดหนุนการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการใช้ไฮโดรเจน  IEA เสนอแนะว่ารัฐบาลควรให้เงินช่วยเหลือสายการบินต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดนี้ โดยมีเงื่อนไขให้สายการบินเหล่านี้หันมาใช้น้ำมันเครื่องบินที่ผสมน้ำมันชีวภาพมากขึ้น

IEA ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศในเอเชียสามประเทศที่ใช้พลังงานจำนวนมาก ได้ประกาศเป้าหมายที่จะทำให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตนมีค่าสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emission) โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประกาศจะทำให้ได้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2050 และจีนภายในปี ค.ศ. 2060 ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปได้ประกาศจะทำให้การปลดปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 จึงคาดได้ว่าโลกจะมีการเร่งรัดหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในทุกสาขา อันจะทำให้โฉมหน้าพลังงานของโลกเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

ผมขอแถมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วงโควิดระบาดปีนี้ ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี พ.ศ. 2563 ปรากฏว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศลดลงประมาณ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2562 (ดูตาราง) โดยลดลงมากในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจเพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินให้มีการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวด แต่ที่น่าสนใจก็คือปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ และน้ำมัน) ในช่วงเก้าเดือนแรก ปี พ.ศ. 2562 ลดลงถึงเกือบ 3% ในขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (พลังงานน้ำ โซล่าเซลล์ เชื้อเพลิงชีวมวล/ชีวภาพ) กลับเพิ่มขึ้นเกือบ 1%

การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมาก ผู้ผลิตขายไฟฟ้าเลือกที่จะหยุดเดินเครื่องในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก่อน  คงเป็นเพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นี่เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นอย่างแน่นอน

 

พรายพล คุ้มทรัพย์

ธันวาคม พ.ศ. 2563