รัฐบาลใหม่กับนโยบายพลังงาน

0
220
สองสัปดาห์ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ผมได้รับการสอบถามจากสื่อมวลชนทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ว่า นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลใหม่ควรเป็นอย่างไร และรัฐบาลควรขับเคลื่อนนโยบายพลังงานของไทยไปในทิศทางใด

 

อย่างที่ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า เท่าที่ตรวจสอบนโยบายพลังงานของแต่ละพรรค และการไปรับฟังดีเบตว่าด้วยนโยบายด้านพลังงานของพรรคการเมืองต่างๆ พบว่าไม่มีพรรคการเมืองใดมีนโยบายในเรื่องการบริหารจัดการระบบพลังงานของประเทศอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ยกเว้นพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งมีนโยบายด้านพลังงานที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด แต่ก็เน้นไปในแนวทางต้องการตรวจสอบระบบการบริหารจัดการในปัจจุบัน มากกว่าเสนอทางเลือกในการบริหารจัดการ
ในความเห็นของผม นโยบายด้านพลังงานที่รัฐบาลใหม่หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ นโยบายการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเห็นด้านพลังงานที่ขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบัน

 

การบริหารจัดการด้านพลังงานของไทย ปัจจุบันตกอยู่ในแวดวงของผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ (Technocrats) อันได้แก่ข้าราชการ ผู้ประกอบการ และนักวิชาการ (บางส่วน) จัดทำแผนและนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ (นักการเมือง) อันได้แก่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และความรู้ด้านพลังงาน

 

ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตลอดมาจนถึงคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้เล็งเห็นปัญหานี้ จึงได้เสนอให้มีการปฏิรูปการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ เป็นหนึ่งใน 17 วาระปฏิรูปที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว

 

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลใหม่ต้องการปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านพลังงานให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงก็สามารถนำไปปฏิบัติได้เลย
ส่วนเรื่องถัดไปที่มีความสำคัญก็คือ นโยบายเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของภาครัฐในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องสร้างความชัดเจนว่า บทบาทของภาครัฐจะครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน จะยังคงยึดมั่นในระบบการค้าเสรีหรือไม่ หรือจะใช้ระบบการแทรกแซง/ควบคุมโดยรัฐมากขึ้น
ประเด็นในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องบทบาทและหน้าที่ของบริษัทปตท.ในฐานะบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ว่าจะดำรงอยู่ในสถานะปัจจุบันต่อไป หรือจะมีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100% ขึ้นมาใหม่

 

ถ้าตั้งขึ้นมาใหม่ บรรษัทพลังงานแห่งชาติจะมีบทบาทและภาระหน้าที่มากน้อยแค่ไหน จะทำหน้าที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศ และกำกับดูแลการให้สิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งการเข้าทำการสำรวจ/ผลิตและทำการค้าปิโตรเลียมเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเหมือนบริษัทเปโตรนาสของมาเลเซียหรือไม่

 

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างนโยบายด้านพลังงานเพียงสองประการที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น แต่ยังมีเรื่องชวนปวดหัวรอต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่อีกเยอะครับ
แต่เชื่อเถอะ กระทรวงพลังงานจะเป็นอีกกระทรวงหนึ่งที่นักการเมืองหมายปอง โดยไม่เกรงกลัวต่อปัญหาครับ !!!
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3dEZu4r