หยุดใช้น้ำมัน เพื่อรักษาชีวิต

0
284
ตลาดน้ำมันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า โอเปคมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันโลกน้อยลงไปมาก โดยต้องหันไปร่วมมือกับรัสเซียเพื่อตกลงกันควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อตรึงราคาน้ำมันให้สูง แต่ก็ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีผู้เล่นรายใหญ่คือสหรัฐอเมริกาที่สามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดูดเอาน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ขึ้นมาใช้ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว
สหรัฐฯ ก็ทำท่าจะร่วมมือกับโอเปคและรัสเซียในการจำกัดปริมาณน้ำมันป้อนตลาดโลก เพื่อผลักดันราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้นอีก เกือบจะทำสำเร็จอยู่แล้ว แต่ว่า…..
ดันมีผู้ร้ายหน้าใหม่ที่มนุษย์มองไม่เห็นตัว โผล่ออกมาอย่างที่ทุกคนไม่คาดฝัน นั่นก็คือเจ้าโควิด-19 ที่ออกมาระบาดอาละวาดจนทำให้คนทั่วโลกติดเชื้อล้มตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนต้องถูกบังคับให้อยู่กับบ้าน ถูกห้ามไม่ให้สัมผัสใกล้ชิดกันหรือไปมาหาสู่กัน
ไม่ว่าสหรัฐฯ กับโอเปคและรัสเซียจะจับมือกันลดการผลิตน้ำมันเพื่อดันราคาเท่าใดก็ตาม ก็ต้องพ่ายแพ้กับเจ้าโควิด-19 เพราะมันได้ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศทั่วโลกลดลงอย่างฮวบฮาบ ผู้คนลดการเดินทางทันที ทำให้เครื่องบินหยุดบินถึง 90% ถนนหนทางว่างเหมือนเป็นเมืองร้าง น้ำมันล้นตลาด ในเดือนเมษายนปีนี้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงถึง 35% และคาดว่าทั้งปี พ.ศ. 2563 นี้ ตลาดน้ำมันจะหดตัวอย่างน้อย 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงจากประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในต้นเดือนมกราคมปีนี้ เหลือไม่ถึง 30 เหรียญในเดือนเมษายนนี้ ราคาน้ำมันดิบเท็กซัสตะวันตก (WTI) หล่นลงมาเหลือไม่ถึง 20 เหรียญในเดือนพฤษภาคมนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ราคาน้ำมันขายล่วงหน้าในสหรัฐฯ อยู่ในระดับติดลบด้วยซ้ำไป
หลุมผลิตน้ำมัน shale oil ในสหรัฐฯ เริ่มปิดดำเนินการกันเป็นจำนวนมากตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมนี้ บริษัทน้ำมันขนาดเล็กของอเมริกาเตรียมทะยอยกันยื่นขอล้มละลาย บริษัทขนาดใหญ่ปรับลดเงินลงทุนลงอย่างกระทันหัน คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะลดลงประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งก็เท่ากับประมาณ 1% ของการผลิตน้ำมันทั่วโลก หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำมันของประเทศไทยในหนึ่งวัน และหากราคาน้ำมันดิบไม่สามารถโผล่พ้น 30 เหรียญ การลดปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็นถึงอย่างน้อย 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะต้นทุนการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ เฉลี่ยประมาณ 30 ถึง 40 เหรียญต่อบาร์เรล
ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ก็คงจะต้องลดการผลิตลงไปด้วย เพราะนอกจากราคาจะลดต่ำจนไม่คุ้มต้นทุนแล้ว ผลิตไปมากๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปเก็บสำรองไว้ที่ไหน ทุกวันนี้ต้องเอาน้ำมันไปเก็บไว้ในเรือบรรทุกน้ำมันกันแล้ว
แล้วตลาดน้ำมันจะตกต่ำไปอีกนานไหม? ผู้สังเกตการณ์คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเห็นราคาน้ำมันกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ก็คงไม่ทำให้การใช้น้ำมันกลับมาสูงเหมือนเดิมอย่างรวดเร็ว เชื่อกันว่าต้องใช้เวลาอีกสองสามปีเป็นอย่างน้อยที่จะเห็นผู้คนกลับมาเดินทางโดยเครื่องบินเหมือนเมื่อเคยทำก่อนโควิด-19 หลายคนจะเดินทางไปทำงานนอกบ้านน้อยลงเพราะเริ่มเคยชินกับการทำงานที่บ้าน ยานยนต์ต่างๆ จะใช้น้ำมันน้อยลงเพราะเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยานยนต์จำนวนมากจะหันไปใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมัน
ในขณะเดียวกัน หลุมน้ำมันในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่ได้ปิดตัวลง ก็พร้อมที่จะกลับมาเปิดดำเนินการได้ทันทีที่ราคาน้ำมันขยับตัวมาอยู่ในระดับที่สูงพอคุ้มกับเงินลงทุน กำลังการผลิตน้ำมันของโลกจึงยังอยู่ในระดับที่เหลือเฟือไปอีกหลายปี
ในที่สุดอาจจะเป็นจริงที่ว่า โลกลดหรือเลิกการใช้น้ำมันไม่ใช่เพราะน้ำมันมีไม่พอใช้ แต่เป็นเพราะมนุษย์มีความต้องการใช้น้ำมันน้อยลงนั่นเอง

บทความโดย พรายพล คุ้มทรัพย์

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3i7MHLp