หลักเกณฑ์ใหม่โรงไฟฟ้าชุมชน

0
1977

หลักเกณฑ์ใหม่โรงไฟฟ้าชุมชน

นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่อดีตรัฐมนตรีพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พยายามผลัดดันมาตลอดก่อนลาออกจากตำแหน่ง และมีความไม่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในสมัยของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงานท่านใหม่นั้น เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในการให้สัมภาษณ์ของท่านปลัดกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา

ท่านปลัดกระทรวงพลังงานได้ระบุว่ากระทรวงพลังงานจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาใหม่  และจะมีการปรับลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวลงเหลือ 100-200 เมกะวัตต์  จากแผนเดิมที่จะแบ่งเป็นประเภท Quick Win  ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ รวม 700 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565

การปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯใหม่ ตามนโยบายของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น  จะดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนก.ย.2563 นี้  จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประมาณเดือนต.ค. 2563 เพื่อให้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือนพ.ย 2563

สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ต้องปรับใหม่จะพิจารณาจากโครงการที่มีสายส่งรองรับ การปรับสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างชุมชนกับนักลงทุน จากเดิมกำหนดแบ่งสัดส่วนกันประมาณ 10-40% ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นการรับซื้อพืชพลังงานในราคาที่สูงแทน เพื่อให้ประโยชน์ตกสู่เกษตรกร และต้องตรวจสอบว่ามีการทำสัญญาซื้อขายพืชเกษตรกับเกษตรกรจริงหรือไม่ เป็นต้น

โดยในส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win ที่เคยมีแผนจะรับซื้อไม่เกิน 100 เมกะวัตต์  จะเปลี่ยนเป็นโครงการนำร่อง ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 12 เดือน   ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไปปริมาณรับซื้อ 600 เมกะวัตต์  จะลดปริมาณรับซื้อเหลือเพียง 100 เมกะวัตต์

นอกจากนี้การพิจารณาคัดเลือกและประเด็นการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) นั้น เดิมกำหนด Fixราคาค่าไฟฟ้าและแข่งขันการให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน ได้ปรับใหม่ให้ Fix ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนและแข่งขันประมูลราคาค่าไฟฟ้า โดยกำหนดโควตาของแต่ละเทคโนโลยีเพื่อให้แข่งขันกันเฉพาะในกลุ่มเดียวกัน และสุดท้ายการบริหารส่วนแบ่งรายได้นั้น เดิมให้ตั้งกองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้น ได้ปรับใหม่ให้ใช้กองทุนหมู่บ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว

สรุปแล้วหลักเกณฑ์สำคัญๆที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ การลดจำนวนรับซื้อจาก 700 เมกะวัตต์ ลงเหลือ 200 เมกะวัตต์ และเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกจากเดิมที่ทางการเป็นผู้กำหนดค่าไฟฟ้า (FiT) เป็นการประมูลแข่งขันกันว่าใครจะเสนอค่าไฟฟ้าได้ต่ำที่สุด และเปลี่ยนมากำหนดผลตอบแทนตายตัวที่จะให้กับชุมชนแทน จากเดิมที่ให้ประมูลแข่งขันกัน

ข้อสำคัญ หลักเกณฑ์ใหม่สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะไม่เปิดโอกาสให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมลงทุน แต่จะให้บริษัทเอสเอ็มอีด้านพลังงาน ที่มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือชุมชนเป็นผู้ร่วมลงทุนแทน

ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาบริษัทใหญ่เข้ามาประมูลกินรวบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไปเป็นของตนหมด !!!

มนูญ ศิริวรรณ                           

18 ก.ย. 2563