เครดิต คุณบรรยง พงษ์พานิช เผยแพร่เมื่อ วันที่ 2 พฤษภาคม 2560

0
275

วันนี้ (2 พ.ค.60) มติชนออนไลน์ลงข่าวแกนนำ คปพ.ออกมาวิจารณ์ สนช.อย่างหนักเรื่อง พรบ.ปิโตรเลียม…

ผมไม่ขอถกรายละเอียดทั้งหมด แต่อยากขอแก้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเพราะเข้าใจคลาดเคลื่อนนี่แหละครับ เลยทำให้วิธีคิดไขว้เขวไปหมด

ท่านบอกว่า
“…เจตนารมณ์ของสัมปทานในยุคแรก คือให้เอกชนนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาพัฒนาการสำรวจและผลิต โดยรัฐยอมให้เอกชนผูกขาดปิโตรเลียมที่ค้นพบในยุคแรก และวางรากฐานให้มีการถ่ายทอดความรู้ให้คนไทยเพื่อรับช่วงต่อหลังหมดอายุสัมปทาน ดังที่รัฐบาลในอดีตสมัย พล.อ เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้ง ปตท.สผ. และซื้อแหล่งบงกชคืนจากบริษัทน้ำมันต่างชาติ และจ้างบริษัทโททาลมาฝึกสอนคนไทย จนสามารถบริหารกิจการต้นน้ำได้เอง แต่พอคนไทยทำเองได้ ปตท.สผ.ก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชน รวมถึงการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชน…”

แต่ ความจริง เป็นว่า … ปตท.สผ. ตอนแรกตั้งนั้น เป็นบริษัทเล็กๆ ไม่มีทั้งทุน ทั้งบุคคลากรที่มีความสามารถพอที่จะลงทุนขนาดใหญ่ใดๆได้ ได้แต่แปะลงทุนโดยใช้สิทธิ์ที่รัฐบาลได้มาจากเงื่อนไขสัมปทาน จะของบไปลงทุนก็มีจำกัด รัฐไม่สามารถจัดหาให้ได้ จนกระทั่งผู้บริหาร (นำโดย ดร.ทองฉัตร หงสลดารมย์) มีวิสัยทัศน์ต้องการให้บริษัทเติบโต ลงทุนได้เอง Operateได้เอง จึงขออนุมัติเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในปี 2536 ได้ทุนมาขยายกิจการ และหลังจากนั้นก็ระดมทุนจากตลาดทุนอีกหลายครั้ง เป็นเงินมากกว่า 50,000,000,000-บาท (อ่านว่าห้าหมื่นล้านบาทครับ) ทำให้สามารถลงทุนได้มากมาย มีเงินไปซื้อแหล่งบงกช ก้าวขึ้นมาเป็น Operator เอง มีแหล่งพลังงานทั่วโลก และวันนี้มีมูลค่าตลาด 386,000 ลัานบาท แถมยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ปตท. ถืออยู่ 65.3% รัฐถือ ปตท. 65% ดังนั้นเท่ากับรัฐถือ ปตท.สผ. 42.5% มีมูลค่า 163,840 ล้านบาท ซึ่งมาจากเงินลงทุนเริ่มต้นแค่ 1,000 ล้านบาท และได้เงินจากตลาดทุนโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณเลยไปขยายตัวจนมีค่าขึ้นมาได้ขนาดนี้

ถ้า ปตท.สผ.ไม่เข้าตลาดหุ้น ไม่ระดมทุนจากชาวตลาดทุน ไม่มีทางหรอกครับที่จะมีเงินไปขยายกิจการจนบริหารงานได้เอง ต้องบอกว่า”พอแปรรูปก็เลยทำได้เอง” ไม่ใช่ “พอทำได้เองก็ถูกแปรรูป” อย่างที่ท่านเขียน

พวกท่านดูจะมองพวกตลาดทุน พวกเอกชนเป็นคนชั่วร้ายไปทั้งหมดนะครับ จริงๆ ที่ปตท.สผ. รุ่งเรืองมาได้ นอกจากเงินทุนของพวกผมแล้ว ยังมีระบบบรรษัทภิบาล ยังมีแรงกดดันจากนักลงทุนตลอดเวลา ที่ช่วยเป็นปัจจัยให้องค์กรก้าวหน้ามาได้

ก็เพราะเข้าใจจุดเริ่มต้น เข้าใจพื้นฐานไขว้เขวไปอย่างนี้แหละครับ ทำให้ข้อเสนอต่างๆของพวกท่านจึงไม่ค่อยจะสมเหตุสมผล ไม่เหมาะกับยุคสมัย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การพลังงานแห่งชาติเดินเข้าสู่หายนะ

สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://www.facebook.com/ERSFellowship/posts/642787662597912