เชื้อเพลิงชีวภาพกับโควิด-19

0
313
วิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกลดลงมากถึง 30% ในเดือนเมษายนปีนี้ และน่าจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้โดยองค์การพลังงานสากล (IEA) ประเมินว่าจะลดลงทั้งปีประมาณ 10% จากปีที่แล้ว
จากความต้องการที่ลดลงดังกล่าว ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปีนี้มีแนวแนวโน้มขยายตัวติดลบ 3% ตามคำทำนายของ IMF ทำให้ราคาน้ำมันลดลงจากปีที่แล้วมากถึง 50% ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจนทำให้ราคาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล (เบนซิน/ ดีเซล) มีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล/ ไบโอดีเซล) มาก ยกตัวอย่างน้ำมันเบนซินและดีเซลของไทย ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ประมาณ 8 บาท/ลิตร แต่ราคาเอทานอลอยู่ที่ 23.28 บาท/ลิตร และราคาไบโอดีเซลบี 100 อยู่ที่ 25.01 บาท/ลิตร เป็นต้น
ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับเชื้อเพลิงชีวภาพทั่วโลกที่ถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงกว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพสูงเกือบ 25% ของความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพของโลก
โดยในปีค.ศ.2017 ภูมิภาคลาตินอเมริกาซึ่งมีสัดส่วนความต้องการเชื้อเพลิงด้านการขนส่งของโลกต่ำกว่า 8% แต่กลับมีสัดส่วนความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพสูงถึง 23% ของความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพของโลกโดยมีอาร์เจนตินาและบราซิลเป็นตลาดใหญ่ที่สุด
ปัจจุบันผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งในอาร์เจนตินาและบราซิลกำลังเผชิญหน้ากับความต้องการที่ลดลง และราคาที่ตกต่ำทั้งในตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออกโดยเฉพาะผู้ผลิตเอทานอลในบราซิลกำลังถูกกระหน่ำจากราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงจนทำให้เอทานอล 100% (unblended ethanol) ที่ขายในปั๊มเพื่อผสมกับน้ำมันเบนซินตามที่ผู้บริโภคต้องการ ไม่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเบนซินได้
ส่วนอาร์เจนตินาก็เผชิญกับปัญหาอุตสาหกรรมไบโอดีเซลของประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหกของโลกมีกำลังการผลิตที่ล้นตลาดเพราะตลาดในประเทศที่ใช้ส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลที่ 10% (B10) ไม่เพียงพอที่จะรองรับกำลังการทั้งหมดได้จึงต้องพึ่งพาตลาดส่งออก
แต่การส่งออกก็มีปัญหาข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศนำมาซึ่งโควตาการส่งออก ยิ่งเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ก็คาดว่าความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออกจะลดลงมากถึง 30% จนทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินในปีนี้พุ่งขึ้นสูงถึง 60% เลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก (6.5% ในปี ค.ศ.2017) ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากความต้องการและราคาน้ำมันที่ลดลงเช่นเดียวกันแต่ด้วยนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพของกระทรวงพลังงานและการสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพในบ้านเราไม่ได้รับผลกระทบมากเหมือนในภูมิภาคอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างชาญฉลาดโดยการลดชนิดของเชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่จำเป็น เช่น แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ E85 และไบโอดีเซล B20 ตลอดจนลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพลงเพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันกับเชื้อเพลิงชีวภาพในต่างประเทศได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

อย่าปล่อยให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศไทยเป็น “เฒ่าทารก” อย่างนี้ตลอดไป!!!.

ℹ️ ที่มาบทความ คอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” เรื่อง “เชื้อเพลิงชีวภาพกับโควิด-19” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563

ℹ️ โดย มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/3i2dcS3