เรื่องเก่ามาเล่าใหม่

0
279
มีเพื่อนส่งเฟซบุ๊คที่มีผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ผมมาให้อ่านซึ่งเป็นข้อความโจมตีเดิม ๆ ที่เคยกล่าวหาผมมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว
เที่ยวนี้ก็เช่นเดียวกัน นอกจากนำเทปเรื่องราคาส่งออกว่าถูกกว่าราคาในประเทศมาแชร์วนมาแล้ว ยังวิจารณ์เพิ่มเติมถึงการรายงานสถานการณ์น้ำมันโลกทางสถานีวิทยุ FM 100.5 ว่า เอาแต่รายงานราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ ทำไมไม่รายงานว่าราคำน้ำมันที่มาเลเซียที่ถูกกว่าไทย
ผมเคยชี้แจงหลายครั้งว่าเวลาไปออกทีวีมีเวลาน้อย ไม่สามารถอธิบายอะไรให้ละเอียดแจ่มแจ้งได้ จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดีหยิบยกคำพูดของผมไปขยายความ และวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มเติมจนเกิดความเข้าใจผิด
เรื่องราคาส่งออกต่ำกว่าราคาในประเทศ เคยชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กและสื่อสังคมโดยทั่วไปว่า 1.ตามหลักการทำธุรกิจไม่ว่าธุรกิจใด ๆ ก็ตาม ถ้ากำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการ ผู้ผลิตมีทางเลือกอยู่สองทาง คือ
1.1 ลดการผลิตให้พอดีกับความต้องการ ซึ่งแน่นอนจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น และถ้าผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ ก็ผลักภาระไป ผู้บริโภคก็ต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น
1.2 ผลิตให้เต็มกำลังการผลิต ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าในราคาที่ถูกลง ส่วนสินค้าส่วนเกินความต้องการในประเทศ ก็ไปหาตลาดในต่างประเทศ (ซึ่งมีทั้งราคาที่สูงและต่ำกว่าราคาในประเทศ) ดังนั้นราคาส่งออกจึงมีทั้งสูงและต่ำกว่าราคาในประเทศ (ไม่ใช่ต่ำกว่าทั้งหมด) ขึ้นอยู่ว่าอยากขายหรือไม่
2. นี่คือเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องสนองความต้องการของตลาดหลักก่อน แล้วส่วนเกินจึงเลือกว่าจะผลิตหรือไม่ ถ้าต้องการ economy of scale ก็ต้องผลิตเต็มที่ แล้วหาตลาดเพิ่ม ซึ่งอาจต้องใช้ราคาเป็นตัวบุกเบิกตลาด ถ้าจะมากำหนดว่าถ้าไปขายต่างประเทศราคาถูก ก็ต้องลดราคาในประเทศให้เท่ากัน ผู้ผลิตก็มีทางเลือกลดการผลิตให้พอดีกับความต้องการ ไม่ต้องเหนื่อยยากไปบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ และผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภคไป
3. วิธีการอย่างนี้ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตได้มากกว่าความต้องการเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ข้าว น้ำตาล ปูนซีเมนต์ ผลผลิตส่วนเกินความต้องการล้วนแต่ต้องส่งออกทั้งสิ้น และบางครั้งก็ต้องส่งออกในราคาต่ำกว่าที่ขายในประเทศ อย่างเช่น ข้าว เป็นต้น
4. ราคาน้ำมันที่โรงกลั่นขายมีหลายราคา
4.1 ราคาตามสัญญา ราคานี้จะเป็นราคาที่อ้างอิงราคาสิงคโปร์ ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ตอนสร้างโรงกลั่น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจว่าสร้างแล้วจะมีลูกค้าแน่
4.2 ราคานอกเหนือสัญญา ราคานี้จะขึ้นลงตามการแข่งขันในตลาด และอาจต่ำกว่าราคาส่งออกมากด้วยซ้ำไป ราคานี้มีส่วนทำให้ตลาดน้ำมันทั้งขายส่งและขายปลีกแข่งขันกันมากขึ้น
5. ผมคงไม่โทษผู้ที่นำเรื่องนี้มาโพสต์เป็นคนแรก เพราะจากการออกทีวีร่วมกัน ทำให้ทราบดีว่า มีความรู้เรื่องน้ำมันมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องธุรกิจการตลาด ส่วนเรื่องที่บอกว่าพูดแต่ราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ออกรายการวิทยุทุกวัน ไม่เคยพูดถึงราคามาเลเซียที่ถูกกว่าเมืองไทยถือว่าเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกันเพราะราคาสิงคโปร์นั้นเป็นราคาขายส่งที่เป็นราคาอ้างอิงของผุ้ค้าน้ำมันในตลาดเอเชียทั้งหมด โรงกลั่นของทุกประเทศตั้งราคาหน้าโรงกลั่นอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ทั้งนั้น แม้แต่โรงกลั่นในมาเลเซียก็เช่นกัน
ดังนั้นเวลารายงานราคาน้ำมันประจำวันจึงต้องรายงานราคาน้ำมันในตลาดกลางที่ใช้อ้างอิงกันทั่วโลก คือ ตลาดนิวยอร์ก ตลาดลอนดอน และตลาดสิงคโปร์ ไม่ใช่ไปรายงานราคาขายปลีกของมาเลเซีย เพราะราคาขายปลีกของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามนโยบายพลังงานและโครงสร้างภาษีที่ไม่เหมือนกัน

สรุปคือ…เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ก็ช่วยใส่สีตีไข่ให้มันเข้าท่ากว่านี้หน่อยดีมั้ยครับ!!!.

ℹ️ ที่มาบทความ คอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” เรื่อง “เรื่องเก่ามาเล่าใหม่” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563

ℹ️ โดย มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://1th.me/7bHlr