โอเปกสูญเสียความเป็นผู้นำในการกำหนดราคาน้ำมัน?

0
311
ผลการประชุมกลุ่มโอเปกเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมาที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จบลงโดยไม่สามารถออกแถลงการณ์ใดๆได้ ต้องรอให้รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ โนแวก บินกลับจากเวียนนา ไปปรึกษาหารือกับประธานาธิบดีปูตินที่นครเซนต์ปีเตอร์เบอร์กของรัสเซีย แล้วกลับมาเจรจาต่อ จึงได้ข้อสรุปว่ากลุ่มโอเปกและพันธมิตรนอกโอเปก (OPEC+) จะตัดสินใจลดการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2019 เป็นต้นไป และจะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนเมษายน

 

การลดการผลิตดังกล่าวจะลดจากตัวเลขฐานการผลิตในเดือนตุลาคม ไม่ใช่เดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นเดือนที่กลุ่มผู้ผลิตผลิตน้ำมันกันอย่างเต็มที่จนทำสถิติสูงสุดที่เคยมีมา และเป็นการลดมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการเอาไว้ว่าจะลดเพียง 1 ล้านบาร์เรล/วัน จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดกระชากขึ้นไปอย่างแรงถึง 5% ในระหว่างการซื้อขาย หลังทราบข่าวนี้ แต่ก็ปรับลดลงในช่วงท้ายจากแรงขายทำกำไร

 

เหตุผลที่กลุ่มสามารถลดการผลิตได้มากกว่าที่คาด ก็เป็นเพราะรัสเซียตัดสินใจยอมลดการผลิตลง 2% ของตัวเลขการผลิตในเดือนตุลาคม หรือเท่ากับ 230,000 บาร์เรล/วัน มากกว่าเดิมที่เคยเสนอเอาไว้ว่าจะลดได้อย่างมากแค่ 150,000 บาร์เรล/วัน ทำให้ได้ข้อสรุปออกมาว่ากลุ่มโอเปกจะลดการผลิตลง 800,000 บาร์เรล/วัน ในขณะที่กลุ่มนอกโอเปกจะลด 400,000 บาร์เรล/วัน

 

นอกจากยินยอมลดการผลิตลงมากกว่าที่เคยเสนอเอาไว้แล้ว รัสเซียยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มโอเปก ให้ยอมรับเงื่อนไขของอิหร่านที่จะไม่ต้องเข้าร่วมในข้อตกลงลดการผลิตในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าอิหร่านถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร ทำให้ส่งออกน้ำมันได้น้อยลงอยู่แล้ว

 

ดังนั้นข้อตกลงลดการผลิตครั้งนี้จึงไม่ครอบคลุมประเทศสมาชิกโอเปก 4 ประเทศ คือ อิหร่าน เวเนซุเอล่า ไนจีเรีย และลิเบีย

 

ถึงแม้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรจะสามารถบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ได้ในที่สุด และดึงราคาน้ำมันให้กลับสูงขึ้นมาได้บ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดเจนถึงบทบาทและความสำคัญที่ทวีสูงขึ้นของรัสเซียในตลาดน้ำมันโลก โดยเฉพาะในอำนาจต่อรองกับกลุ่มโอเปก ที่ครอบครองบทบาทในการกำหนดราคาน้ำมันดิบโลกมากว่าหกทศวรรษ

 

จะเห็นได้ชัดเจนว่าต่อไปนี้โอเปกจะไม่สามารถกำหนดทิศทางของตลาดน้ำมันโลกได้ตามลำพัง โดยปราศจากความร่วมมือจากรัสเซีย แม้แต่ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้นำที่แท้จริงของกลุ่มโอเปก และผลิตน้ำมันมากถึงหนึ่งในสามของกลุ่ม ก็ยังต้องแสวงหาความร่วมมือจากรัสเซีย

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มโอเปกได้สูญเสียบทบาทนำในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันให้กับรัสเซียไปแล้ว !!!

 

มนูญ ศิริวรรณ
12 ธ.ค. 61
สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://bit.ly/2NEsQVK