ประหยัดได้ ไม่ยากนัก

0
216
ทิศทางประเทศไทย : ประหยัดได้ ไม่ยากนัก
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับที่ : 5200
วันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2560
เชื่อหรือไม่ว่า การกระทำ (หรือการไม่กระทำ) ของหน่วยงานรัฐในบางเรื่องบางอย่าง ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงาน ในชีวิตประจำวัน เราคงเคยพบเห็นเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทำให้เราคิดไปว่า ถ้าภาครัฐทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ประชาชนก็จะสามารถลดภาระที่ไม่จำเป็นลงไปได้ ภาครัฐเองก็อาจจะได้ประโยชน์ด้วย สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น ผมมีสองตัวอย่างที่อยากจะยกมาเล่าให้ฟัง
เรื่องแรกเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนของคนกรุงเทพฯ พวกเราส่วนมากคงมีโอกาสได้ใช้ทางด่วนซึ่งต้องเสียสตางค์ก่อนที่จะขึ้นไปใช้ได้ เคยตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่า ที่เราจ่ายสตางค์ใช้ถนนทางด่วน (หรือถนนวงแหวน) ก็เพื่อเดินทางได้เร็วขึ้น รถติดน้อยลง แต่ในระยะหลังๆ กลับมีจราจรติดขัดมากขึ้นบนทางด่วน บางครั้งรถติดบนทางด่วนมากกว่าบนถนนข้างล่างเสียอีก และที่น่ารำคาญที่สุดก็คือ…รถดันไปติดกันมากที่สุดตรงด่านเก็บเงิน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “นี่เราจะเสียเงินให้เขา แล้วยังจะต้องเข้าคิวรอเป็นนานแสนนานอีก”
ดังนั้น ผู้ใช้ทางด่วนจึงไม่ใช่รับภาระจ่ายค่าผ่านทางแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรับภาระในการรอจ่ายค่าทางด่วน โดยเสียทั้งเวลา เสียทั้งค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอรถ และในบางครั้งก็เสียอารมณ์ด้วย (ผมเองเคยต้องรอคิวจ่ายค่าผ่านทางด่านธัญบุรีถนนวงแหวนนานถึง 45 นาที) ภาระจากการรอจ่ายค่าผ่านทางนี้จึงถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและพลังงาน และเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย เพราะเกิดจากการกระทำที่อยู่ในความควบคุมของภาครัฐ
ความจริงหน่วยงานของรัฐก็ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยจัดให้มีระบบการจ่ายเงินค่าผ่านทางที่ใช้บัตร Easy pass (หรือ M pass ในกรณีถนนวงแหวน) นอกเหนือจากการจ่ายด้วยเงินสด แต่เราก็รู้กันดีว่าคนใช้ทางด่วนส่วนใหญ่ยังไม่เลือกใช้บัตร Easy pass คือเลือกจ่ายเป็นเงินสดมากกว่า ให้ทุกคนต้องรอคิวยาวอยู่เพราะผู้ที่ใช้บัตรก็ยังต้องติดคิวรอร่วมกับคนอื่นก่อนที่จะเข้าถึงช่องอ่านบัตร บางทีเครื่องดันอ่านบัตรไม่ได้ก็ต้องรอกันอีก
ประเด็นก็คือหน่วยงานของรัฐสามารถทำอะไรได้อีกหรือไม่ เพื่อทำให้ผู้จ่ายค่าผ่านทางเข้าคิวรอสั้นลง หรือ ไม่มีคิวเลยก็ยิ่งดี
ผมคงไม่แนะนำให้ยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางไปเลยเพราะจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก แต่ผมคิดว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ที่จะจูงใจให้ผู้ใช้ทางด่วนหันมาจ่ายค่าผ่านทางโดยใช้บัตรมากขึ้น ในปัจจุบันผู้ใช้บัตรต้องจ่ายค่าผ่านทางในอัตราเดียวกันกับผู้จ่ายด้วยเงินสด มิหนำซ้ำเวลาเติมเงินทางอินเตอร์เน็ตก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 5 บาท ผมอยากเสนอให้ผู้ใช้บัตรสามารถจ่ายค่าผ่านทางในอัตราที่ต่ำกว่าปัจจุบันและต่ำกว่าอัตราสำหรับผู้จ่ายด้วยเงินสด ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดให้คนหันมาใช้บัตรจ่ายค่าผ่านทางแทนเงินสดมากขึ้น และรถก็จะติดหน้าด่านเก็บเงินน้อยลง จริงๆแล้วผู้ใช้บัตรควรจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ใช้บัตรต้องเติมเงินอันเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับภาครัฐเอาไปใช้จ่ายฟรีๆ โดยไม่คิดดอกเบี้ย
อีกประการหนึ่ง ด่านเก็บค่าผ่านทางบางแห่งน่าจะพิจารณายกเลิกได้ ตัวอย่างเช่น ด่านที่เก็บค่าผ่านทางรถเก๋งคันละ 10 บาทใกล้กับทางขึ้นลงถนนงามวงศ์วาน บางช่วงบางเวลารถติดรอจ่ายค่าผ่านทางยาวหลายกิโลเมตร เสียเวลารอจ่ายเงินคันละไม่น้อยกว่า 10 นาที คิดค่าเสียเวลา ค่าสึกหรอของรถและค่าเชื้อเพลิงคันละไม่น่าจะต่ำกว่า 10 บาท อย่างนี้เก็บค่าผ่านทางไป 10 บาทก็ไม่คุ้มกับภาระความสูญเสียทางเศรษฐกิจของผู้ใช้ถนน การยกเลิกด่านเก็บเงินแห่งนี้จะทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้นเพราะผู้ใช้ถนนน่าจะลดภาระความสูญเสียลงเป็นจำนวนเงินมากกว่ารายได้ค่าผ่านทางที่ลดลงของภาครัฐ
อนึ่ง ทางการควรจะใช้ระบบการอ่านบัตรจ่ายค่าผ่านทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะอ่านบัตรได้ช้าแล้ว ยังมีปัญหาติดขัดอ่านบัตรไม่ได้อยู่เป็นเนืองๆ ผู้ที่เคยไปใช้ทางด่วนในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่น จะรู้ดีว่าระบบการอ่านบัตรจ่ายค่าผ่านทางของประเทศเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากกว่าของเรามาก
ข้อเสนอเหล่านี้น่าจะทำให้ผู้ใช้บัตรจ่ายค่าผ่านทางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และคิวรถติดหน้าด่านเก็บเงินก็น่าจะสั้นลง ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและพลังงานไปได้ไม่น้อย
เรื่องที่สองเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าในหน่วยงานของรัฐ เราคงทราบกันดีว่าภาครัฐเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ เพราะทั้งหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของรัฐประเภทต่างๆ ต่างก็มีอาคารที่ทำงานขนาดทั้งเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ละแห่งใช้ไฟฟ้าเพื่อปรับอากาศและให้แสงสว่างอย่างน้อยสัปดาห์ละห้าวันๆ ละอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ไฟฟ้าในอาคารของรัฐส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่าง หลายแห่งยังเลือกใช้หลอดไฟประเภทที่เป็นหลอดไส้ หลอดนีออน และหลอดตะเกียบ ในปัจจุบันหลอดไฟที่กินไฟน้อยที่สุดและมีอายุใช้งานมากที่สุดคือหลอดไฟ LED
หลอดไฟ LED มีราคาแพงที่สุดเมื่อเทียบกับหลอดไฟประเภทอื่นที่ให้แสงสว่างเท่ากัน แต่การลงทุนเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED จะทำให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้มากและมีความคุ้มค่าทางการเงินสูง ตัวอย่างเช่น หลอดไฟ LED ที่กินไฟ 9 วัตต์ มีราคาหลอดละประมาณ 200 บาท และสามารถใช้งานได้นานถึง 24,000 ชั่วโมง เทียบกับหลอดตะเกียบที่ให้แสงสว่างเท่ากัน มีขนาด 19 วัตต์ มีราคาหลอดละประมาณ 50 บาท และสามารถใช้งานได้ 8,000 ชั่วโมง แค่ใช้ไฟแสงสว่างเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง หากใช้หลอด LED จะประหยัดไฟฟ้าได้ปีละ 11 หน่วยเมื่อเทียบกับการใช้หลอดตะเกียบ ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 40 บาท คืนทุนได้ภายในสี่ปี เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 40% ต่อปี หากใช้หลอด LED ทดแทนหลอดไส้หรือหลอดนีออนก็ยิ่งจะประหยัดไฟและคุ้มค่ามากกว่ากรณีการใช้แทนหลอดตะเกียบเสียอีก
ดังนั้น เราจึงควรผลักดันให้ภาครัฐลงทุนเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED ในหน่วยงานของรัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไปกู้ยืมเงินมาลงทุนก็ยังคุ้ม เพราะรัฐบาลน่าจะกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 10% เอามาลงทุนในโครงการที่มีอัตราผลตอบแทนถึง 40% ดีเสียกว่าเอาเงินไปสร้างรถไฟบางสายที่สร้างแล้วยังไม่รู้จะมีสินค้าให้ขนส่งหรือไม่ ภาครัฐจะสามารถประหยัดงบประมาณค่าไฟฟ้าลงไปได้ในระยะยาว
ข้อดีอีกข้อหนึ่งของการเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED ก็คือสามารถลดความจำเป็นในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้ด้วย ทุกล้านหลอดจะลดความต้องการใช้ไฟลงได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์
ผมเชื่อว่าการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและพลังงานโดยภาครัฐยังมีความเป็นไปได้อีกไม่น้อย แค่สองกรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลไม่ต้องฝันเฟื่องเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ให้มากนัก เอาเวลามาปรับปรุงปัญหาใกล้ตัวที่เกิดขึ้นทุกวี่ทุกวัน ก็จะสามารถลดความสูญเสียและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้