ก๊าซไทย คิดราคาอย่างไร ?

0
897

Q: ก๊าซไทย คิดราคาอย่างไร ?

A: ก๊าซเชื้อเพลิงที่ใช้ในไทย 69% ผลิตจากในประเทศ ซึ่ง 67% มาจากอ่าวไทย 2% จากบนบก ที่เหลือต้องนำเข้า 16% จากพม่า และ 15% มาจาก LNG (ข้อมูลปี 2562) ก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้จากอ่าวไทยเป็นก๊าซหนัก ต้องผ่านโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อแยกก๊าซเชื้อเพลิงออกจากสารอื่นๆ ที่นำไปเพิ่มมูลค่าในโรงงานปิโตรเคมี

การใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงมี 2 แบบ ส่วนหนึ่งเป็นก๊าซมีเทน ส่งทางท่อมาจากโรงแยกก๊าซฯ+พม่า +LNG ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและในโรงงานอุตสาหกรรม อีกส่วนหนึ่งใช้ในรูปของก๊าซ LPG บรรจุส่งในถังขนาดต่างๆ มาจากการผสมก๊าซโพรเพนและบิวเทนที่ได้จากโรงแยกก๊าซฯ และโรงกลั่นน้ำมันด้วย เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มและอื่น ๆ

ราคามีเทนอ้างอิงจากต้นทุนเฉลี่ยจากทั้ง 3 แหล่ง ที่เรียกกันว่า Pool Price รวบรวมโดยกระทรวงพลังงาน โดยราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในไทยจะอ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลังตั้งแต่ 6-21 เดือน ราคาจำหน่ายก๊าซมีเทนมีแต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเฉกเช่นน้ำมันสำเร็จรูป

ส่วนราคา LPG นั้น มีราคาเนื้อก๊าซที่อ้างอิงจากราคานำเข้า บวกภาษีสรรพสามิต + VAT แล้วลบด้วยเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งช่วยทำให้ราคาขายปลีก LPG ถูกกว่าราคาตลาด

ก๊าซมีเทนไม่มีการส่งออก ส่วน LPG หากมีการส่งออกอย่างถูกกฎหมายราคาจะแพงกว่าที่คนไทยใช้ เพราะแม้การส่งออกจะไม่เก็บภาษีสรรพสามิต แต่ก็จะไม่ได้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งปัจจุบัน (17 พ.ย. 63) อุดหนุนอยู่ 3.36 บาท/กก.

แต่หากเป็นการลักลอบส่งออกก็คงจะเป็นราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งแปลว่าคนไทยจ่ายเงินอุดหนุนราคาก๊าซให้ประเทศเพื่อนบ้าน! ดังนั้น ERS จึงแนะนำว่าไม่ควรอุดหนุนราคา LPG จนบิดเบือนโครงสร้างราคาทำให้มีแรงจูงใจที่จะลักลอบส่งออกค่ะ

ℹ️LNG ย่อมาจาก Liquefied Natural Gas เป็นก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศ

#เข้าใจเพื่อไปต่อ #ERSFellowship #คุณถามเราตอบ

แสดงความคิดเห็นได้ที่:  https://web.facebook.com/ERSFellowship/photos/a.299602063583142/1502857199924283/