ทำไมต้องอ้างอิงราคานำเข้าจากตลาดต่างประเทศ ทั้งที่ต้นทุนก๊าซส่วนใหญ่เป็นของไทย ?

0
994

Q: ทำไมต้องอ้างอิงราคานำเข้าจากตลาดต่างประเทศ ทั้งที่ต้นทุนก๊าซส่วนใหญ่เป็นของไทย ?

A: โครงสร้างราคาพลังงานในประเทศไทยนั้นถูกกำกับดูแลโดยภาครัฐ การอ้างอิงราคาตลาดโลกไม่ใช่เพื่อปกป้องผู้ผลิต แต่เป็นการสร้างระบบราคาที่เป็นธรรมกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องจากปิโตรเลียมเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถขนส่งซื้อขายได้ง่าย ราคาจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามราคาตลาดโลกหรือตลาดภูมิภาค* หากปล่อยให้ผู้ผลิตคิดราคาแบบ Cost Plus คือบวกกำไรไปบนต้นทุน ก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้ผู้บริโภคไทยใช้ของแพง เพราะไม่มีการแข่งขันจากการนำเข้า ดังเช่นกรณีของเอทานอลแพงที่หลายคนเริ่มรู้สึกกันแล้ว การที่ประเทศไทยเปิดเสรีให้นำเข้าปิโตรเลียมได้จึงเป็นการบังคับให้ผู้ผลิตต้องลดต้นทุนและบริหารให้แข่งขันได้กับราคานำเข้า

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงก๊าซที่ผลิตได้เองในประเทศ ต้องแยกแยะระหว่างก๊าซธรรมชาติ**ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า กับก๊าซ LPG ที่ใช้หุงต้มในครัวเรือน เฉพาะราคา LPG เท่านั้นที่มีการอ้างอิงราคานำเข้าจากต่างประเทศ ดูเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3q6RVuT

———————————

ข้อมูลประกอบ :

*ราคาตลาดเกิดจากปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า อาร์บิทราจ (Arbitrage) ในเมื่อสินค้าโภคภัณฑ์มีคุณลักษณะเหมือนๆกัน หากที่ไหนขายถูก ก็จะมีพ่อค้าเข้าไปซื้อแล้ว “ส่งออก” ไปยังประเทศที่แพงกว่าเพื่อทำกำไร ส่วนในตลาด/ประเทศที่แพงกว่าเมื่อมีการ “นำเข้า” ของถูกมาขายแข่ง ราคาในตลาด/ประเทศนั้นก็จะลดลงเอง มีผลทำให้ราคาทั่วโลกหรือในภูมิภาคที่มีการซื้อขายและขนส่งได้ปรับตัวมาใกล้เคียงกันในสภาพที่ตลาดสมดุล (Equilibrium) โดยยังมีความแตกต่างที่ค่าขนส่งและส่วนของต้นทุนในแต่ประเทศที่ต่างกัน

**ก๊าซธรรมชาติยังไม่มีราคาตลาดโลกเพราะไม่สามารถขนส่งได้ง่าย ในอดีตต้องผ่านระบบท่อซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกันทั่วโลก ช่วงหลังแม้จะมีการขนส่งในรูปแบบของ LNG มากขึ้น แต่ก็ยังไม่กว้างขวางพอที่จะทำให้เกิดราคาตลาดนำเข้า ในประเทศไทยราคาก๊าซที่ขุดได้จากอ่าวจึงเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยมีสูตรราคาที่อิงกับน้ำมันเตา เพราะก๊าซธรรมชาติถูกใช้ในโรงไฟฟ้าแทนน้ำมันเตานั่นเอง
#ERSFellowship #เข้าใจเพื่อไปต่อ #คุณถามเราตอบ

แสดงความคิดเห็นได้ที่:  https://www.facebook.com/ERSFellowship/photos/a.299602063583142/1514336602109676/